Smart Packaging การเปลี่ยนแนวคิดสู่การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

Smart Packaging
การเปลี่ยนแนวคิดสู่การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

อ.วรรณรัตน์ วิรัชกุล
ภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลับพระจอมเกล้าธนบุรี

การออกแบบบรรจุภัณฑ์เปรียบเสมือนหน้าตาที่จะเชิญชวนให้ผู้บริโภคสนใจ โดยหน้าที่หลักคือ การปกป้อง และสื่อความของผลิตภัณฑ์ภายในเพื่อพูดกับผู้บริโภค ซึ่งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพนั้น จะสามารถ ส่งผลต่อการเลือกซื้อ และเป็นที่จดจำได้ดี นักออกแบบบรรจุภัณฑ์จึงพยายามที่จะหารูปแบบใหม่ๆ ของบรรจุภัณฑ์ เพื่อความง่ายและสะดวก ทั้งในแง่ของการผลิตเพื่อผู้ผลิตและยังคำนึกถึงผู้บริโภค พร้อมทั้งการเลือกใช้วัสดุที่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลังจากที่ เมื่อหมดหน้าที่ในการบรรจุไปแล้ว

WINE PACKAGING
Designed by Awesome TLV
ภาพจาก www.heydesign.com

ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้บริโภคไม่ได้สนใจเพียงสนใจแค่รูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มอยู่เท่านั้น แต่การตัดสินใจเลือกซื้อ ยังมีปัจจัยในแง่ของความสะดวกสบาย ง่ายต่อการใช้งาน และความสอดคล้องต่อการจัดเก็บและการกำจัดทิ้งด้วย บรรจุภัณฑ์บางตัวถูกออกแบบเพื่อให้มีการใช้งานที่มากกว่าใช้แล้วทิ้งไป เช่น บรรจุภัณฑ์ที่มีการคำนึงถึงการใช้ซ้ำ สามารถปิดได้เสมือนใหม่ เพื่อคงความสดและสะอาดของผลิตภัณฑ์ด้านใน และในด้านของวัสดุที่ใช้ในการผลิต บรรจุภัณฑ์เองก็มีการพัฒนานำเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อมาใช้การยืดอายุของผลิตภัณฑ์หรือการแจ้งเตือนให้ผู้บริโภค รับทราบถึงข้อมูลของผลิตภัณฑ์ และแจ้งเตือนถึงวันหมดอายุที่กำลังจะถึง ซึ่งเราเรียกบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้ว่า Smart packaging

Squishable Wine Box Lets You Squeeze Wine Until The Last Drop
Designer: Veronica Kjellberg and Mila Rodriguez
ภาพจาก www.packagingoftheworld.com

Smart Packaging หรือบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ คือ บรรจุภัณฑ์ปัจจุบันที่ถูกนำไปพัฒนาและต่อยอดทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งกำลังเป็นที่เริ่มมีการใช้งานในบางประเภทผลิตภัณฑ์ เช่น อาหาร และยา ก็มีคำเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น Intelligent packaging, Interactive packaging, Active packaging หรือ เป็นการนำมาผสมผสานกัน เพื่อประโยชน์การใช้งานที่ครอบคลุม ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถแบ่งประเภทของบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะนี้ออกได้ 2 กลุ่มหลักๆ คือ หนึ่งบรรจุภัณฑ์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์ (active packaging) เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ควบคุม การเจริญเติบโตของแบคทีเรีย หรือเชื้อรา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาให้ควบคุมการกัดกร่อน (corrosion control) และการกำจัดก๊าซ (gas scavengers) ที่เกิดจะเกิดขึ้นในระหว่างขนส่งหรือระหว่างการจัดจำหน่าย และสองคือ Intelligent packaging เป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือที่มากกว่าการบอกวันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ แต่สามารถตรวจสอบอายุการเก็บรักษา และรายงานผลไปยังผู้บริโภคได้ด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์ของ smart packaging คือการปรับปรุงคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ หรือเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งสามารถแยกกลุ่มของ intelligent packaging ได้ออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ เซ็นเซอร์ (sensors), ตัวบ่งชี้ (indicators) และ ข้อมูล (data carriers) มีตัวบ่งชี้หลากหลายที่ใช้ในแต่ละประเภทซึ่งแสดงถึงโอกาสที่ดีสำหรับการพัฒนา ตัวอย่างเช่น ตัวบ่งชี้อุณหภูมิ-เวลา (TTIs) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ใช้กันทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น เชิงชีวภาพ, ทางเคมีกายภาพ, สารเคมี, เอนไซม์, การแพร่กระจาย, พอลิเมอร์

ตัวอย่างจากงานวิจัยของ Kiryukhin, M. และคณะ
เรื่อง “A membrane film sensor with encapsulated fluorescent dyes towards
express freshness monitoring of packaged food” Atlanta (2018)

แล้วถ้าอยากออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็น smart packaging ควรทำอย่างไร จากภาพจะสามารถบอกหน้าที่หลักของ บรรจุภัณฑ์ที่ทำงานร่วมกัน คือการปกป้อง การสื่อสาร การบรรจุ และความสะดวกในการใช้งาน ซึ่ง active packaging จะเข้าไปช่วยในการปกป้องและยืดอายุผลิตภัณฑ์ และ intelligent packaging จะเข้าไปเสริมในส่วนของการสื่อสาร กับผู้บริโภค เพื่อให้เห็นภาพจะยกตัวอย่างการนำไปใช้งาน

ในตัวอย่างของ active packaging ที่สามารถเห็นได้ชัดคือ การปรับปรุงฟังค์ชั่นการทำงานของบรรจุภัณฑ์อย่าง การยืดอายุผลิตภัณฑ์นม โดยการใช้เพิ่มชั้นพิเศษลงในวัสดุของกล่องนม

และในตัวอย่างของ intelligent packaging ที่อาจจะเคยเห็นผ่านตามาบ้างคงจะเป็นการนำไปใช้กับบรรจุภัณฑ์ ที่ใส่อาหารสดอย่าง เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่จะมีฉลากติดอยู่ด้านบนของบรรจุภัณฑ์พร้อมทั้งบอกวันที่ บรรจุและวันที่หมดอายุ ฉลากตัวนี้จะมีความพิเศษที่เมื่อวันผ่านไปจนกว่าจะถึงวันที่หมดอายุจะมันจะเปลี่ยนสี เพื่อบอกความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภครับทราบ อีกทั้งยังง่ายต่อพนักงานที่จะการจัดการเอาไปลดราคา ก่อนที่จะหมดอายุ หรือนำออกจากชั้นวางสินค้าต่อไป

Fresh Label
Designer: to-genkyo
ภาพจาก www.boredpanda.com

Smart packaging ไม่ใช่แค่เป็นเพียงสัญญาณที่บ่งบอกถึงการยืดอายุ ความสดใหม่ หรือการหมดอายุของผลิตภัณฑ์ เท่านั้นมันยังส่งผลต่อตัวผู้ผลิตและผู้บริโภคอีกด้วย ทั้งในด้านของความปลอดภัยที่มีในอาหารและยา ซึ่งเป็นธุรกิจมูลค่าสูงการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้จะเป็นเหมือนหลักประกันความน่าเชื่อถือในประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ทำให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค หรือในด้านการยืดอายุอาหารมีงานวิจัยที่ว่า หากสามารถยืดอายุของอาหารได้เพิ่มหนึ่งวันก็จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก หรือในแง่ของกฎหมาย ที่ออกมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นทำให้เป็นแรงจูงใจให้อุตสาหกรรมอาหารและยาหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อช่วยให้บรรจุภัณฑ์สามารถเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้คงเดิมอยู่เสมอจนกว่าจะถึงวันหมดอายุ

ในเมื่อ smart packaging จะเอื้ออำนวยต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคแล้ว ทำไมในไทยถึงยังไม่ถูกนำพัฒนาเพราะ “บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารเป็นเรื่องซับซ้อนจำเป็นต้องได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME ซึ่งหลายครั้งพบว่าขาดความเข้าใจ คำนึงถึงเฉพาะรายได้ เน้นของถูก แต่ขาดคุณภาพทำให้เกิดการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง ขาดความปลอดภัย” นี่คือการวิเคราะห์สถานการณ์ของบรรจุภัณฑ์ไทยบางช่วงที่อาจารย์มยุรี ภาคลำเจียก ได้ให้ สัมภาษณ์เอาไว้ในงานเสวนา ‘สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กับโอกาสที่ท้าทายในยุค 4.0’ พร้อมทั้งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เหล่านี้มีมูลค่าสูง และต้องใช้ผู้มีความชำนาญเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอาหาร เและเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ร่วมกัน ซึ่งในไทยมีสถาบันที่ให้คำแนะนำด้านนี้คอยช่วยเหลือผู้ผลิตอยู่ อย่างภาควิชาเทคโนโลยีการพิม์และบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือสมาคมบรรจุภัณฑ์ไทย สมาคมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย เป็นต้น

p22-27_08

หากองค์กรของผู้ผลิตต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพจากบรรจุภัณฑ์ที่มีการออกแบบที่ดีแล้วไปเป็น smart packaging องค์ความรู้ความเข้าใจที่จะต้องพึงมีนอกจากด้านบรรจุภัณฑ์อาหารแล้ว จำเป็นจะต้องรู้คุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ ว่าสิ่งใดเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษาที่สั้นลง จากนั้นจึงมาเลือกใช้ เปลี่ยน หรือเพิ่มเทคโนโลยี จากงานวิจัยที่มีการศึกษาและพัฒนาเกี่ยวกับวัสดุที่ช่วยให้บรรจุภัณฑ์มีการตอบสนองต่อความต้องการของผู้ผลิตก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะศึกษาเพิ่มเติมในองค์กร