ระบบนิเวศธุรกิจ (Business Ecosystems)

p22-27_08

ระบบนิเวศธุรกิจ (Business Ecosystems)
การวิเคราะห์และปรับตัวของอุตสาหกรรมการพิมพ์

พิชิต ขจรเดชะ ภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

“ธุรกิจที่ประสบความล้มเหลว มักคำนึงถึงแต่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการให้บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดีที่สุด แต่ละเลยการมองภาพรวมของธุรกิจ ขาดการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม สภาวะเศรษฐกิจ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง พฤติกรรมผู้บริโภค และการมองภาพกว้างหรือภาพรวมที่ผิดพลาด ไม่คำนึงถึงระบบนิเวศทางธุรกิจ ทำให้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจผิดพลาด ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น” Professor James Moore, Harvard University

จากการรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ซึ่งมีมูลค่าตลาดกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี (เฉพาะบรรจุภัณฑ์กระดาษ) โดยแยกเป็นธุรกิจบรรจุภัณฑ์ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท มีการเติบโตประมาณ ร้อยละ 5 และธุรกิจสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท มีการเติบโตร้อยละ 0 ถึงหดตัวร้อยละ 3 เนื่องจากปริมาณงานพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีแนวโน้มลดลง จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และพฤติกรรมการบริโภคสื่อของประชาชน โดยดูได้จากจำนวนเงินที่ใช้ในสื่อโฆษณาสิ่งพิมพ์และนิตยสารที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 พบว่าการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ลดลง 21.82% และในนิตยสารลดลงถึง 33.60% เมื่อเทียบกับปี 2559 ดังแสดงในรูปที่ 1

รูปที่ 1 แสดงจำนวนเงินที่ใช้ในการโฆษณาในสื่อประเภทต่าง ๆ ที่มา : บริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสริตช์ (Nielsen) : https://brandinside.asia/adspend-dec-2017-nielsen/

รูปที่ 1 แสดงจำนวนเงินที่ใช้ในการโฆษณาในสื่อประเภทต่าง ๆ
ที่มา : บริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสริตช์ (Nielsen) : https://brandinside.asia/adspend-dec-2017-nielsen/

จากการลดลงของเม็ดเงินที่ใช้ในการโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ ส่งผลให้สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสาร ต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ เริ่มตั้งแต่ ปี 2558 นิตยสาร เปรียว ได้ประกาศปิดตัวลง หลังจากนั้น ปี 2559 นิตยสารและสื่อหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ได้ทยอยปิดตัวเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น Candy, Volume, Image, Cosmopolitan, บางกอกรายสัปดาห์, Seventeen, สกุลไทย, WHO, I Like ,พลอยแกมเพชร, C-Kids, Oops!, Lemonade รวมถึงหนังสือพิมพ์บ้านเมือง โดยในปี 2560 ยังมีสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทยอยปิดตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น นิตยสาร แมรี แคลร์, Men’s Health, ครัว, เนชั่นสุดสัปดาห์, Filmax, ขวัญเรือน, ดิฉัน, มาดาม ฟิกาโร่, คู่สร้าง คู่สม เป็นต้น จากการวิเคราะห์พบว่า เมื่อผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์ ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ มีการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารที่ลดน้อยลง ทำให้บริษัทเอเจนซี่โฆษณาปรับลดเม็ดเงินที่ใช้โฆษณาในนิตยสาร ส่งผลให้นิตยสารต่าง ๆ ประสบปัญหาและบางส่วนต้องปิดตัวลง เมื่อปริมาณนิตยสารที่ปิดตัวลงมีจำนวนมากได้ส่งผลกระทบต่อโรงพิมพ์โดยเฉพาะโรงพิมพ์ที่ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือ บางแห่งประสบปัญหาต้องยุติการดำเนินกิจการ ในขณะเดียวกับโรงพิมพ์บางส่วนถือว่าเป็นโอกาสในการปรับปรุงโรงงาน รูปแบบ ระบบการผลิต ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ช่องทางการแข่งขัน จากการผลิตสื่อสิงพิมพ์อย่างเดียว เป็นบริษัทที่ครบวงจรมากขึ้น เช่น รับจัดงานแสดงสินค้า งานเปิดตัวสินค้า งานผลิตสิ่งพิมพ์และ/หรือผลิตบรรจุภัณฑ์ ตามความถนัด เงินทุน ตลอดจนองค์ความรู้ของแต่ละโรงพิมพ์ นอกจากนั้นปัญหาเรื่องเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลงยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น สำนักพิมพ์ สตูดิโอถ่ายภาพ นักเขียน ร้านขายหนังสือ การวิเคราะห์ระบบนิเวศทางธุรกิจจะช่วยให้มองเห็นภาพรวมของอุตสาหกรรม ระบบโซ่อุปทาน การเชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงถึงปัญหาและความเสี่ยง รวมถึงเห็นช่องทางในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้บริโภค หรือการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

ระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem)

Ecosystem มีความหมายว่าระบบนิเวศที่สิ่งต่างๆ ในระบบมีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แต่ในทางธุรกิจ คำว่า Business Ecosystem มาจากการรวมกันของ Business คือ ธุรกิจ กับ Ecosystem คือระบบนิเวศ ระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) เป็นการรวมกลุ่มของธุรกิจ หน่วยงาน องค์กร บุคคล และสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มารวมตัวกันเพื่อดำเนินกิจกรรม การพึ่งพาอาศัยกันในกลุ่มธุรกิจเดียวกันอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน มีการเชื่อมโยงกันของห่วงโซ่อุปทานของแต่ละกลุ่มธุรกิจ (Supply Chain) เพื่อร่วมมือ ช่วยเหลือ เกื้อหนุน การเสนอและออกกฎเกณฑ์ ส่งเสริม สนับสนุน ซึ่งกันและกัน ทำงานร่วมกันมากขึ้น การสร้างเครือข่ายของ ผู้ซื้อ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ และผู้ผลิตและผู้ให้บริการต่างๆ การสร้างสิ่งแวดล้อมเชิงสังคมเศรษฐกิจ รวมทั้งกรอบการทำงานในด้านสถาบัน องค์กรและกฎระเบียบต่างๆ ให้เกื้อหนุนและสอดคล้องกับบริบทในการดำเนินธุรกิจ

professor James Moore จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ให้คำจำกัดความของคำว่าระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) ว่าเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงกันของห่วงโซ่ทางคุณค่า (Value Chain) แต่ละหน่วยในระบบธุรกิจนั้น ๆ ที่มีรูปแบบจำลองที่คล้ายคลึงระบบนิเวศทางธรรมชาติ องค์ประกอบของระบบนิเวศทางธุรกิจที่ดี มักประกอบด้วย 1. ความหลากหลายที่เกื้อหนุนกัน 2. ความซับซ้อนที่ช่วยให้การขาดองค์ประกอบหนึ่ง ไม่ทำให้ส่วนที่เหลือมีปัญหา 3. ความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรที่เกื้อหนุนระบบนิเวศนั้น ๆ และ 4. การแข่งขันที่ช่วยพัฒนาวิวัฒนาการของธุรกิจ ทั้งนี้ระบบธุรกิจที่อยู่รอดไม่ใช่บริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ แต่เป็นบริษัทหรืองค์กรที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ สังคม ได้ทันต่อเวลาและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ บริษัทหรือองค์กรที่ล้มเหลวส่วนมากมักพยายามเพียงเพิ่มประสิทธิภาพให้สินค้าและบริการให้สามารถตอบสนองลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น แต่นั้นอาจจะไม่เพียงพอ

ในอดีต การดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบ one-sided business เป็นการดำเนินธุรกิจแบบทิศทางเดียว เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต ตั้งแต่ วัตถุดิบ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ ผู้ผลิต ร้านขายส่ง ร้านค้าปลีก และลูกค้า การผลิตจะมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองและสร้างความพอใจให้แก่ลูกค้า คำนึงถึง ความรวดเร็ว สวยงาม และมุ่งเน้นประสิทธิภาพในการผลิต การเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาสู่กระบวนการผลิต การแข่งขันและกีดกันทางการค้า

รูปที่ 2 การดำเนินธุรกิจในรูปแบบ one-sided business ที่มา : Choudary, S.P. (2015) Platform Scale: How a new breed of start-ups is building large empires with minimum investment. Boston: Platform Thinking Labs.

รูปที่ 2 การดำเนินธุรกิจในรูปแบบ one-sided business
ที่มา : Choudary, S.P. (2015) Platform Scale: How a new breed of start-ups is building large empires with minimum investment. Boston: Platform Thinking Labs.

แต่แนวคิดของระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) เป็นการนำเสนอรูปแบบ การดำเนินธุรกิจที่มีสินค้าและบริการที่ครบถ้วน ครบวงจร ผู้ผลิตจะต้องมองภาพรวมทั้งระบบการผลิต การให้บริการ ต้องวิเคราะห์และมองครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นทางด้าน

  1. core business : แก่น และธุรกิจหลักขององค์กรคืออะไร ผลผลิตของเราคืออะไร อะไรที่ถนัดและสามารถทำได้ อะไรที่สร้างรายได้ให้กับองค์กร ส่วนไหนบ้างที่ควรมอบหมายให้ซัพพลายเออร์หรือหุ้นส่วนรับไปดำเนินการ
  2. extended enterprise : เครือข่ายคู่ค้า ซัพพลายเออร์ หุ้นส่วน พันธมิตร กลุ่มบริษัท OEM (Original Equipment Manufacturer)
  3. business ecosystem : ระบบนิเวศทางธุรกิจ เป็นภาพรวมของกลุ่มธุรกิจ, อุตสาหกรรม ประกอบไปด้วย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ สหภาพแรงงาน ผู้ลงทุน องค์กรภาครัฐ นโยบาย กฎเกณฑ์ต่างๆ อาจรวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค การวิเคราะห์คู่แข่ง โอกาสทางธุรกิจ
รูปที่ 3 ภาพรวมของ business ecosystem ที่มา : Moore (1996).

รูปที่ 3 ภาพรวมของ business ecosystem
ที่มา : Moore (1996).

บริษัท SCG หรือ เครือซิเมนต์ไทย เป็นตัวอย่างของบริษัทที่นำเอาระบบนิเวศทางธุรกิจมาปรับใช้กับบริษัท เนื่องจากปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ทำให้ทางบริษัท ทำการแบ่งประเภทของธุรกิจที่มีอยู่ออกเป็น 2 ประเภทคือ Core Business กับ Non-Core Business โดยธุรกิจหลัก (Core Business) ของทาง SCG เป็นกลุ่มที่บริษัทมีความสามารถสูง ทำได้ดี และถนัด สามารถเจริญเติบโตได้ ได้แก่ ธุรกิจซิเมนต์ ปิโตรเคมีและกระดาษ ส่วนที่เหลือจะถูกตั้งเป็น Non-Core Business และถูกขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับต่างประเทศ หรือคนอื่นๆ ที่สนใจลงทุน ทำให้บริษัท SCG สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับการดำเนินธุรกิจ และช่วยให้รอดพ้นจากปัญหา สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง

รูปที่ 4 ภาพรวมของกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ บริษัท SCG ที่มา : https://scc.listedcompany.com/misc/PRESN/20180126-scc-jp-morgan-thailand-conference.pdf

รูปที่ 4 ภาพรวมของกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ บริษัท SCG
ที่มา : https://scc.listedcompany.com/misc/PRESN/20180126-scc-jp-morgan-thailand-conference.pdf

ณ ปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนกลุ่มธุรกิจกระดาษเป็น กลุ่มธุรกิจ packaging เนื่องจากปัญหาความต้องการของอุตสาหกรรมกระดาษพิมพ์เขียนในประเทศมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนตามกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นด้านบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ (เช่น บรรจุภัณฑ์กระดาษ, food packaging, flexible packaging เป็นต้น ) ที่มีความต้องการใช้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และยังมุ่งเน้นการนำเสนอสินค้าและบริการด้านบรรจุภัณฑ์ ให้แก่ลูกค้าอย่างครบวงจรและยั่งยืน (Total Packaging Solutions Provider) มีการพัฒนาและขยายกำลังการผลิตด้านบรรจุภัณฑ์ ขยายฐานการผลิตกระดาษในต่างประเทศ สร้างและพัฒนาบุคลากร การพัฒนานวัตกรรมให้ครอบคลุมบรรจุภัณฑ์ทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร การลงทุนด้าน MERCHANDISING DISPLAY ด้านบรรจุภัณฑ์อาหาร การสร้างเครือข่ายด้าน PACKAGING SUPPLIES (การปลูกต้นยูคาลิปตัส เยื่อไม้ การนำเศษเยื่อไปทำปุ๋ย) และการมีพันธมิตรทางด้านวัสดุ (กลุ่มเอสซีจี เคมีคอลส์ที่ผลิตเม็ดพลาสติกสามารถนำมาผลิตเป็นวัตถุดิบสำหรับงาน flexible packaging) ด้านการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ โดยได้คำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งาน และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เน้นการพัฒนาหน่วยงานต่าง ๆ ของบริษัทในทุกมิติ มีการสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ สร้างและพัฒนาหน่วยงานให้ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศทางธุรกิจ

รูปที่ 5 กลุ่มของบรรจุภัณฑ์ ที่มา : https://scc.listedcompany.com/misc/PRESN/20180126-scc-jp-morgan-thailand-conference.pdf

รูปที่ 5 กลุ่มของบรรจุภัณฑ์
ที่มา : https://scc.listedcompany.com/misc/PRESN/20180126-scc-jp-morgan-thailand-conference.pdf

สรุป

การศึกษาระบบนิเวศทางธุรกิจ จำเป็นต้องศึกษาและวิเคราะห์ core business ขององค์กรนั้น ๆ เพราะถือว่าเป็นหัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจ ถ้ามีความชัดเจนในเรื่องของ core business การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน เป้าหมายขององค์กร ก็จะทราบว่าเรามีความชำนาญด้านไหน อะไรคือสินค้าหรือบริการที่เราทำได้ดีและซัพพลายเออร์ของเราคือใคร สามารถสร้างเครือข่ายคู่ค้า หุ้นส่วน พันธมิตร ของกลุ่มธุรกิจ เมื่อกลุ่มธุรกิจมีความเข้มแข็ง ก็สามารถรวมกลุ่ม จัดตั้งองค์กรเพื่อขอความช่วยเหลือจากภาครัฐและภาคเอกชน การกำหนดนโยบาย และกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีความคล่องตัว ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ของประเทศไทยนั้น ได้มีการสร้างและพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจขึ้นมาในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบคลัสเตอร์ การรวมกลุ่ม จัดตั้งสมาคม การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และหลักสูตรต่าง ๆ ขึ้น เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศธุรกิจของอุตสาหกรรมการพิมพ์ เช่น นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย ชมรม Young Printer Group เครือข่ายสถาบันการศึกษาด้านการพิมพ์และสื่อสารแห่งประเทศไทย สถาบันการพิมพ์ไทย (Thai Print Academy) ศูนย์ทดสอบมาตรฐานวัสดุและอุปกรณ์การพิมพ์ ศูนย์วิจัยพัฒนา “Thai Print Laboratory” เป็นต้น ถือได้ว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทยได้มีการปรับตัวและพัฒนาขีดความสามารถอย่างยาวนานและต่อเนื่อง และยังเป็นระบบนิเวศทางธุรกิจที่สามารถพัฒนาเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ได้มากยิ่งขึ้น เช่น การจัดตั้งเครือข่ายออกแบบ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม หน่วยงานศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ศูนย์แจ้งเตือนทางเศรษฐกิจ-เทคโนโลยี การพัฒนาระบบมาตรฐานต่างๆ (ทางการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ซอฟแวร์ การเชื่อมต่อเครื่องจักร การนำเข้าส่งออก) ศูนย์ซ่อมเครื่องจักรทางการพิมพ์ หน่วยงานเพื่อจับคู่กับระบบคลัสเตอร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นอุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ ยา ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิสต์ เป็นต้น ถ้าสามารถทำได้ก็จะทำให้ระบบนิเวศทางอุตสาหกรรมการพิมพ์มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น