“Embellish” อย่างไรให้แตกต่างอย่างสร้างสรรค์

p60-61_08

“Embellish” อย่างไรให้แตกต่างอย่างสร้างสรรค์

บทความโดย ศศิรดา สุทธิลักษณ์ บริษัท เคิร์ซ (ประเทศไทย)

เมื่อพูดถึงการตกแต่งหลังการพิมพ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานพิมพ์หรือบรรจุภัณฑ์ สิ่งหนึ่งที่เราจะนึกถึงอยู่เสมอคือการ “ปั๊มฟอยล์เงิน ฟอยล์ทอง” จะว่าไปแล้ว การปั๊มฟอยล์ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรในบ้านเรานัก ทำกันมาหลายสิบปีตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย จะพัฒนาขึ้นก็เรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือที่มีความทันสมัยมากขึ้น ทำได้หลากหลายมากขึ้น แต่เราก็ยังมีข้อจำกัดในหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในการปั๊ม ลวดลาย ชนิดของฟอยล์ ความซับซ้อนของดีไซน์ ข้อจำกัดในเรื่องศักยภาพของคน เทคนิคต่างๆ ในการปั๊ม สิ่งเหล่านี้ ทำให้ผลงานในประเทศเรายังมีพื้นที่ในการพัฒนาได้อีกเยอะ

แล้วเราจะเริ่มจากอะไรดี? วันนี้เราเริ่มจากการปั๊มหรือที่เรียกว่า Hot Stamping นี่แหละ ว่าการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง คือจุดเริ่มต้นของการ “แตกต่างอย่างสร้างสรรค์” ได้อย่างไร

KURZ ในฐานะผู้ผลิตฟอยล์รายใหญ่ที่สุดของโลก ไม่เคยหยุดพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยผู้ประกอบการโรงพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีนวัตกรรมใหม่ๆ ไปนำเสนอลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่เทคโนโลยีแม่พิมพ์ทองเหลืองจาก h+m ที่ผลิตแม่พิมพ์ได้หลากหลายชนิด เริ่มตั้งแต่ แม่พิมพ์แบบเรียบธรรมดา ไปจนถึงแม่พิมพ์ลึก แม่พิมพ์นูน และแม่พิมพ์ความละเอียดระดับไมโครและนาโน

การปั๊มเรียบๆ ธรรมดาเราคงไม่ต้องพูดถึงให้เสียเวลา แต่เรื่องการปั๊มลึก ปั๊มนูนหรือที่เรียกว่า deboss หรือ emboss นี่สิที่น่าสนใจ ในปัจจุบันโรงพิมพ์หรือโรงปั๊มทั่วไปมักจะชินกับการปั๊ม 2 รอบ มีแม่พิมพ์ 2 ชุด ชุดแรกไว้ปั๊มฟอยล์ให้เกิดลวดลาย และแม่พิมพ์อีก 1 อันไว้สำหรับปั๊มให้ชิ้นงานมีความลึกหรือความนูน

ด้วยเทคโนโลยีของเรา สามารถลดขั้นตอนการปั๊มได้เหลือเพียงขั้นตอนเดียว ทั้งยังสามารถทำให้เกิดความแม่นยำได้อย่างไม่มีที่ติ เราเรียกแม่พิมพ์แบบนี้ว่า Combination dies หรือ บล๊อคคอมโบ้ ซึ่งเป็นการปั๊มฟอยล์และปั๊มให้ลึกหรือนูนได้ในขั้นตอนเดียว เทคนิคการปั๊มแบบนี้จะช่วยลดขั้นตอน เวลา และของเสียได้ อีกทั้งยังมีความแม่นยำที่มากกว่าอีกด้วย

ในเรื่องการออกแบบแม่พิมพ์ เรายังสามารถเพิ่มโครงสร้างของแม่พิมพ์ให้มีมุม มีองศา สร้างมิติให้ชิ้นงานดูมีอะไรมากกว่าการปั๊มนูนปกติ การผสมผสานมากกว่า 1 โครงสร้างในแม่พิมพ์อันเดียว (multilevel and sculpture) ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจในชิ้นงานให้มีมากขึ้น ดูโดดเด่นและชวนให้สัมผัสมากกว่าการปั๊มทื่อๆ แบนๆ ธรรมดา

อีกหนึ่งนวัตกรรมของเคิร์ซ คือการสร้างลวดลายบนแมพิมพ์ได้ในระดับไมโครและนาโน ที่สามารถยกระดับการปั๊มฟอยล์ธรรมดาๆ ให้ดูแปลกตา ชวนสงสัยว่าลายเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หากมีการทำงานกับดีไซเนอร์ที่เข้าใจถึงหลักการออกแบบ ยิ่งสามารถยกระดับเป็นการป้องกันการปลอมแปลงในระบบ economy ได้ไม่ยากนัก สามารถสร้าง value ให้กับสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์และยังยกระดับเป็นการป้องกันการปลอมแปลงได้อีกระดับหนึ่งด้วย
ยังมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมอีกมากมายที่เราสามารถนำมาดัดแปลงและปรับใช้ เพื่อสร้างความแตกต่างบนชิ้นงานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนที่สูงเกินความจำเป็น การเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรหมั่นศึกษาหาความรู้ หรือพูดคุยสอบถามผู้เชี่ยวชาญ เพื่อคอยอัพเดทเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมาแล้ว เพื่อนำมาพัฒนาองค์กรและยกระดับอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในบ้านเราให้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป