สมาคมการพิมพ์ไทย ร่วมจิตอาสา
พิมพ์สติ๊กเกอร์ติดถุงข้าวช่วยชาวนาไทยสร้างแบรนด์
ปัญหาราคาข้าวตกต่ำจนเกิดกระแสรณรงค์ให้ชาวนาหันมาขายข้าวสารโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกิดจิตอาสาหลากหลายอาชีพพร้อมใจกันยื่นมือช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นดาราศิลปิน นักออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงองค์กรน้อยใหญ่ต่างๆ และหนึ่งในนั้นก็คือ “สมาคมการพิมพ์ไทย”
กระแสฟีเวอร์เกิดขึ้นแค่ 3 วันแรก มีผู้สนใจเข้ามาดู Facebook โครงการ Thai Print for Thai Farmersกว่า 3 หมื่นราย ซึ่งสมาคมการพิมพ์ไทยจัดทำขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน – 22 มกราคม 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิมพ์สติ๊กเกอร์สำหรับติดบนถุงข้าว พร้อมจัดส่งถึงมือชาวนาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดทั้งสิ้น ไม่จำกัดจำนวนว่าจะเป็นกี่ราย เพียงแค่ชาวนาติดต่อผ่านทางเฟสบุ๊ค www.facebook.com/thethaiprintingassociation เพื่อจัดส่งแบบพร้อมเลือกขนาด A5 หรือ A6 ขนาดใดขนาดหนึ่งเท่านั้น
คุณพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช อุปนายกสมาคมการพิมพ์ไทย ในฐานะประธานโครงการ บอกถึงที่มาที่ไปว่า เนื่องด้วยเห็นจากข่าวว่า ชาวนาขายข้าวไม่ได้ราคา ราคาตก ประกอบกับเห็นข่าวทางทีวีและหนังสือพิมพ์ว่า มีหลายฝ่ายต่างออกมาช่วยชาวนา เช่น ดารา-นักร้องได้โพสต์ในไอจีให้ชาวนาเข้าไปโพสต์ขายข้าวในไอจีตนเองได้ ขณะเดียวกันก็มีองค์กรอย่างเช่น ปตท. ได้เปิดพื้นที่ในปั๊มน้ำมันให้ชาวนาไปขายข้าวได้ฟรี หรือมหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็เปิดพื้นที่ให้ไปขายข้าวได้เช่นกัน ฯลฯ
“ตรงนี้เราก็คิดในฐานะคณะทำงานของสมาคมการพิมพ์ไทยว่า จะสามารถมีส่วนร่วมช่วยอะไรได้บ้าง ถ้าชาวนาบรรจุถุงข้าวเอง เรารู้เลยว่าหน้าตาถุงข้าว จะเป็นถุงพลาสติกใสทั่วไป มัดด้วยหนังยาง เราจึงมองว่า จุดนั้นเป็นการช่วยระยะสั้น ชาวนาเอามาขาย ผ่านแล้วผ่านเลย ถ้าผู้บริโภคเอาข้าวมาทานแล้วอร่อย รู้สึกประทับใจ อยากซื้อซ้ำจะซื้อที่ไหนดี กลับไปก็ไม่เจอชาวนาคนเดิมแล้ว เนื่องจากไม่เกิดการสร้างแบรนด์และการสื่อสารกับผู้บริโภค”
ฉะนั้น จุดนี้ถ้าทางสมาคมฯจะช่วย ก็ควรช่วยให้เป็นระบบ ประกอบกับเห็นว่า มีกลุ่มนักออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือกราฟฟิคดีไซเนอร์ ได้รวมตัวกันแบบจิตอาสาทำการออกแบบฉลากและบรรจุภัณฑ์ให้ชาวนาฟรีหลายกลุ่มด้วยกัน อาทิ สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย (THAI GRAPHIC DESIGNERS ASSOCIATION) , กลุ่มออกแบบ ‘ให้” ฯลฯ ซึ่งโลดแล่นในโซเชี่ยลมีเดีย ก็ได้ให้ชาวนาโทรหรือเข้าไปโพสต์ในเฟสบุ๊ค เพื่อให้ช่วยออกแบบฉลากและบรรจุภัณฑ์ข้าว
แต่ปรากฏว่าไม่จบขั้นตอน เพราะว่าต่างคนต่างออกแบบ บางทีก็ออกแบบเป็นสติ๊กเกอร์ดวงเล็กๆ บางทีก็ออกแบบเป็นถุงข้าว จากนั้นพอส่งแบบกลับไปให้ชาวนา ทางชาวนาก็ต้องไปติดต่อหาโรงพิมพ์เอง และโรงพิมพ์ที่จะรับงานส่วนใหญ่นั้น การสั่งพิมพ์ก็ต้องมีขั้นต่ำหลักหมื่นขึ้นไป เนื่องจากว่า ทางโรงพิมพ์ต้องขึ้นโมทำแม่แบบก่อนทำการพิมพ์ เมื่อเป็นอย่างนั้นชาวนาก็ไม่สามารถนำแบบไปพิมพ์ได้
ดังนั้น ในฐานะสมาคมการพิมพ์ไทย ควรทำให้กระบวนการตรงนี้จบเสร็จสิ้นสมบูรณ์ คือ พิมพ์เป็นสติ๊กเกอร์เอาไปให้ชาวนาถึงมือสามารถใช้งานทันทีและใช้สร้างแบรนด์ได้
ขั้นตอนการทำงานคือ ให้ชาวนาติดต่อผ่านเฟสบุ๊คของสมาคมการพิมพ์ไทยคือ www.facebook.com/The Thai Printing Association เพื่อจัดส่งแบบและเลือกขนาดสำหรับพิมพ์ขนาดใดขนาดหนึ่งระหว่าง A6 (105 x 148 มม.) พิมพ์ให้ฟรีจำนวน 200 ชิ้น ต่อชาวนา 1 ราย เหมาะสำหรับติดถุงข้าวขนาด 1- 5 กิโลกรัม หรือ A5 (148 x 210 มม.) พิมพ์ให้ฟรีจำนวน 100 ชิ้น ต่อชาวนา 1 ราย เหมาะสำหรับติดถุงข้าวขนาด 5 กิโลกรัมขึ้นไป
“ชาวนาบรรจุถุงข้าวเองได้ จึงพิมพ์สติกเกอร์ติดถุงให้ดีกว่า โดยให้กราฟฟิคดีไซน์จิตอาสาทั้งหลายส่งโลโก้หรือแบบที่ออกแบบแล้วส่งมาที่สมาคมฯ หลังจากนั้นทางสมาคมฯ จะพิมพ์ให้เสร็จพร้อมใช้ โดยประสานกับพันธมิตรของเรา ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านวัตถุดิบสติ๊กเกอร์จาก บริษัท พีเอ็มซี ลาเบล แมททีเรียล จำกัด ซึ่งให้สติ๊กเกอร์ฟรีทั้งหมด แล้วก็ได้ความร่วมมือจาก บริษัท โคนิก้า-มินอลต้า บิสซิเนสโซลูชั่น (ประเทศไทย) จำกัด โดยคุณอุกฤษฏ์ ตั้งอุทัยสุข ผู้จัดการส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์และทีมงาน ใช้เครื่องพิมพ์ที่จะทำศูนย์ Digital Training Center ร่วมกับสมาคมฯ พิมพ์ให้ฟรีเช่นกัน พร้อมตัดแต่งไดคัท จนสามารถนำไปติดบนถุงข้าวได้ทันที โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ถึงมือชาวนาเลย”
สำหรับสาเหตุที่กำหนดจำนวนจำกัดในการพิมพ์ให้ฟรี เนื่องจากทางสมาคมฯ มีความมุ่งมั่นและตั้งใจดีที่จะช่วยเหลือชาวนาให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อหมดระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการแล้ว ก็พยายามมองหาและหารือกันว่า จะมีการช่วยเหลือชาวนาในลำดับต่อไปได้อย่างไรบ้าง โดยในส่วนของสมาคมการพิมพ์ไทย ก็มีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศกว่าพันราย เพราะฉะนั้น เราจะดูว่า ในจำนวนดังกล่าวมีรายไหนบ้างที่มีเครื่องพิมพ์ระบบดิจิตอล ก็จะขอความร่วมมือพิมพ์สติ๊กเกอร์ขนาดมาตรฐานข้างต้นให้ชาวนาในราคาพิเศษ ซึ่งเชื่อว่าชาวนาจะรู้สึกว่า การติดสติ๊กเกอร์ลงไปบนถุงข้าว เป็นการเพิ่มโอกาสในการขาย และเป็นการเพิ่มมูลค่าและการสร้างแบรนด์ให้แก่ข้าวที่ขาย
“ในอนาคตชาวนาจะเริ่มมองฉลากหรือบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญของสินค้า จากเดิมขายเป็นกระสอบ พอเริ่มติดสติ๊กเกอร์เข้าไปต้องมาคิดว่า บนสติ๊กเกอร์ต้องมีข้อความอะไรมาโฆษณา หรือบรรยายคุณสมบัติ ประโยชน์ของข้าวบ้าง แต่ละรายจะเริ่มแข่งกันแล้ว เช่น ข้าวของฉันในจังหวัดเพชรบูรณ์มีคุณสมบัติอย่างไร ไม่ใช้สารเคมี ไม่มียาฆ่าแมลง บริโภคปลอดภัย สร้างสตอรี่ขึ้นมา อย่างน้อยเริ่มสร้างยี่ห้อตัวเองเป็นแล้ว จากปกติเกี่ยวข้าวเสร็จขายไปกองรวมกันอยู่โรงสี ปนกับข้าวชาวนาคนอื่น จึงไม่เกิดความรู้สึกรับผิดชอบ แต่เมื่อมีแบรนด์ตัวเอง จึงต้องพัฒนาและรับผิดชอบต่อข้าวสารของตนเอง
โครงการ Thaiprint for Thai Farmers ได้เพิ่มการทำงานช่วยชาวนาให้เป็นระบบ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานฉลากสติ๊กเกอร์ให้เกิดผลสมบูรณ์ จากนั้นก็จะก่อให้เกิดการจ้างงาน การสร้างงานในอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเลย จริงๆ ต้องบอกว่า ครั้งแรกในส่วนของสมาคมฯ คาดหวังว่าจะเป็นกราฟฟิคดีไซเนอร์เท่านั้นที่ติดต่อเข้ามาแต่กลับปรากฏว่า มีชาวนาติดต่อเข้ามาเองด้วย
จะเห็นว่า ณ วันนี้ชาวนามีเฟสบุ๊คเป็นของตัวเอง ใช้สื่อสารกับสังคมออนไลน์ หรือแม้แต่ลูกหลานที่อยากทำสติ๊กเกอร์ขายข้าวช่วยคุณพ่อคุณแม่ คุณตาคุณยาย ก็มีติดต่อเข้ามาจำนวนมาก หรืออยากใช้บริการด้านการออกแบบ ก็แนะนำให้ติดต่อกราฟฟิคดีไซเนอร์จิตอาสา ที่มีการติดต่อมากับสมาคมฯ อยู่ก่อนแล้ว ยกตัวอย่างเช่น คณะมีเดียอาร์ต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งมี อาจารย์บุญเลี้ยง แก้วนาพันธุ์ พร้อมมีทีมนักศึกษาลูกศิษย์พร้อมช่วยออกแบบให้เราด้วย
ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ ได้เก็บข้อมูลไฟล์งานสติ๊กเกอร์และโลโก้เข้าระบบเรียบร้อย หากชาวนาท่านใดต้องการสั่งเพิ่มหรือต้องการเอาไปใช้พิมพ์งานเอง ก็สามารถขอให้จัดส่งทางอีเมลได้ เพราะชาวนามีอินเตอร์เน็ต มีเฟสบุ๊คแล้วและน่าจะมีอีเมลกันเกือบทุกคน อีกทั้งในส่วนกราฟฟิคดีไซน์ที่เคยติดต่อกันแล้วก็น่าจะมีเบอร์โทรศัพท์ของกันและกันเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ในอนาคตข้างหน้า หากชาวนาต้องการสร้างหรือพัฒนามูลค่าเพิ่มให้สินค้าข้าวตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การแปรรูปข้าวไปเป็นข้าวแต๋น น้ำข้าว หรือผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากข้าวต่างๆ เขาจะเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของฉลากและบรรจุภัณฑ์โดยปริยาย
“หลายคนคงเคยเห็นในประเทศญี่ปุ่น มีขนมบางอย่างหรืออาหารบางอย่าง รสชาติอร่อยสู้ของเมืองไทยไม่ได้ แต่เขาให้ความสำคัญกับที่บรรจุภัณฑ์สวยงามมีมาตรฐาน ซึ่งทำให้เพิ่มราคาขายได้ บรรจุภัณฑ์บางครั้งแพงกว่าขนมอีก ขณะเดียวกัน บ้านเราใส่เป็นถุงแล้วเย็บแม็กซ์ ไปต่างจังหวัดซื้อกลับมากรุงเทพฯ ก็หายกรอบแล้ว เพราะขาดมาตรฐานการทำบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรักษาคุณภาพอาหาร ซึ่งสมาคมการพิมพ์ไทยเอง ได้เคยทำโครงการไปให้ความรู้กับผู้ประกอบการต่างจังหวัดซึ่งมีชาวนาไปอบรมด้วย บางคนต่อยอดจากวัตถุดิบพื้นฐาน เราเข้าไปแนะนำจากเดิมใส่ถุงปิดฉลากขายสิบบาทอยู่ได้สองวันหายกรอบ พอเราไปทำเรื่องถุงให้มีคุณสมบัติถนอมอาหารไม่ให้อากาศเข้าไปได้ สามารถอยู่ได้ 3 สัปดาห์ ติดสติ๊กเกอร์เข้าไปเพิ่มขายได้ 35 บาท หรือ 50 บาท จากเดิมส่งขายแค่จังหวัดรอบๆ เพราะส่งไกลจะหายกรอบ ตอนนี้ส่งไปไกลถึงเชียงใหม่ภูเก็ตหรือส่งออกไปขายตลาดเออีซีได้หลายท่านเริ่มสร้างมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ การต่อยอดต่างๆ ทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น”
อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือชาวนาครั้งนี้ได้รับความสนใจมาก จากช่วงปกติเฟสบุ๊คของทางสมาคมฯก็มีคนเข้ามาอ่านจำนวนหนึ่ง แต่หลังจากเปิดตัวโครงการ Thaiprint for Thai Farmers นี้เพียงแค่ 3 วันแรก มีคนเข้ามาอ่านมากกว่า 30,000 ซึ่งโครงการนี้ได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งชาวนา กราฟฟิคดีไซน์ โรงพิมพ์ ซึ่งสามารถช่วยกันกระตุ้นให้อุตสาหกรรมการพิมพ์เดินต่อไปได้
โดยเฉพาะทุกวันนี้กราฟฟิคดีไซเนอร์ไทยมีความรู้ความสามารถ ความละเอียดอ่อน ฝีมือดี รวมทั้งมีเทคโนโลยีและซอฟท์แวร์ที่ดี จึงเชื่อมั่นว่า สามารถตอบสนองได้แน่นอน ดังนั้น ชาวนาท่านใดที่สนใจและยังไม่มีโลโก้หรือสติ๊กเกอร์ แต่ต้องการสร้างแบรนด์สินค้าข้าวแม้จะหมดช่วงเวลาพิมพ์ฟรีแล้ว ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่เฟสบุ๊คของสมาคมฯ เหมือนเดิม สมาคมฯก็จะประสานงานหาผู้ออกแบบและโรงพิมพ์ให้ด้วยความยินดี โดยที่รับประกันว่า ชาวนาจะได้รับราคาพิเศษอย่างแน่นอน