พสกนิกรสะสม หนังสือ-สิ่งพิมพ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

p92-95_02

พสกนิกรสะสม หนังสือ-สิ่งพิมพ์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

พสกนิกรไทยร่ำไห้ทั้งแผ่นดินเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และสิ่งที่แสดงออกถึงการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ด้วยการแต่งกายไว้ทุกข์และงดงานรื่นเริงในระยะเวลาที่เหมาะสมแล้ว ยังได้พบเห็นการใช้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นสัญลักษณ์แสดงความอาลัย และร่วมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยโดยถ้วนหน้า

วารสาร Thaiprint magazine ทำการเฝ้าสำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมสิ่งพิมพ์ คล้อยหลังวันเสด็จสวรรคตเรื่อยมา พบเห็นประวัติศาสตร์ด้านสื่อสิ่งพิมพ์และการพิมพ์ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านแผ่นดินจากยุคสมัยของรัชกาลที่ 9 สู่รัชสมัยของรัฐกาลที่ 10 เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งพอจะประมวลนำมาเสนอในพื้นที่แห่งได้พอสังเขป

คล้อยหลังวันเสด็จสวรรคต 1 วันคือวันที่ 14 ตุลาคม 2559 สื่อหนังสือพิมพ์ทุกฉบับนำเสนอข่าว ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตพร้อมกันทุกฉบับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยจัดเน้นการลงพระบรมฉายาลักษณ์เต็มพื้นที่ปกหน้า 1 ส่วนเนื้อในเน้นเรื่องราวพระราชกรณียกิจของพระองค์ในโครงการตามพระราชดำริต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์เดลินิวส์นั้นถือว่ามีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เพราะมีการตีพิมพ์เรื่องราวของพระองค์ตลอดทั้งเล่ม กลายเป็นฉบับพิเศษในทันที และได้รับการตอบรับจากสังคมด้วยดีนับตั้งแต่การจำหน่ายตามแผงหมดในทันที ซึ่งคาดว่าเป็นการซื้อเพื่ออ่านและสะสม เนื่องจากมีการเน้นภาพและเนื้อหาหลากหลายเรื่องราว และบางโครงการถ้าไม่บอกคนรุ่นใหม่ก็อาจไม่ทราบว่านั่นคือ โครงการที่เป็นพระราชดำริของรัชกาลที่ 9

p92-95_03

อย่างไรก็ตาม แม้จะหาซื้อหนังสือพิมพ์เดลินิวส์วันนั้นไม่ได้ แต่ก็มีผู้ปรารถนาดีสแกนเป็นไฟล์พีดีเอฟ แล้วแชร์ไปทั่วโลกโซเชี่ยลเกิดเป็นกระแสในเชิงบวก เพื่อให้ประชาชนสะสมเป็นที่ระลึกในการร่วมไว้อาลัย และถัดจากนี้ ก็มีทั้งผู้อ่านและองค์กรหนังสือพิมพ์เองต่างเผยแพร่ไฟล์งานพีดีเอฟของในหลวงรัชกาลที่ 9 ออกมาให้ประชาชนสะสมอีกจำนวนมาก

คล้อยหลังมาอีกระหว่าง 3-7 วัน มีการตีพิมพ์ภาพโปสการ์ด โปสเตอร์และหนังสือฉบับพิเศษ ฯลฯ จำหน่ายจ่ายแจกอย่างหลากหลายและพบเห็นได้ทั่วไป ทั้งจากองค์กรบริษัท ร้านค้าและแผงหนังสือ โดยจากการสำรวจพบว่า ตามร้านหนังสือทั่วไปและร้านหนังสือชั้นนำในห้างสรรพสินค้า หนังสือเฉพาะกิจที่นำเสนอประราชประวัติและพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้รับความสนใจจากพสกนิกรของพระองค์เลือกซื้อหาเพื่อสะสมเป็นที่ระลึก ในการร่วมไว้อาลัยกันอย่างถ้วนทั่ว ไม่ว่าเป็นร้านนายอินทร์ ร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ และร้านบีทูเอส ฯลฯ และนับเป็นหนังสือขายดีระดับท็อปเท็นในแต่ละวันเลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์การพิมพ์สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์รายวันด้วย โดยมีอย่างน้อย 3 ฉบับ ได้แก่ เดลินิวส์ โพสต์ทูเดย์และผู้จัดการรายวัน 360 (องศา) เลือกสัมภาษณ์ผู้นำในอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยที่ทุกท่านรู้จักและคุ้นเคยกันดีคือ คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ คุณวิชัย สกลวรารุ่งเรือง ที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ส.อ.ท. โดยมีเนื้อหาประเด็นประมาณว่า

“ในช่วงที่ผ่านมายอดสั่งพิมพ์โปสเตอร์ โปสการ์ด ปฏิทินและหนังสือเกี่ยวข้องกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ในรัชกาลที่ 9 มีกระแสแรงมาก คาดว่าเป็นเพราะประชาชนต้องการเก็บสะสมไว้เป็นที่ระลึกถึงพระองค์ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้”

โดยในส่วน คุณเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานคลัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์สื่อหนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับคล้ายคลึงกันว่า คำสั่งพิมพ์ปฏิทิน หนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มีเข้ามาจำนวนมากจากความต้องการของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อนำเก็บสะสมไว้เป็นที่ระลึก

“คำสั่งจัดทำปฏิทินจากห้าง ร้าน ธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งสถาบันการเงินและรัฐวิสาหกิจเริ่มทยอยเข้ามาต่อเนื่องและส่วนใหญ่เน้นที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 9 ซึ่งทิศทางอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ปี 2559 เติบโตได้ 5-6% แต่จะเป็นการเติบโตมาจากบรรจุภัณฑ์เป็นส่วนใหญ่ และหากแยกเฉพาะการพิมพ์นั้นยอมรับว่าติดลบ โดยเฉพาะจากนิตยสารและวารสารต่างๆ ที่ทยอยปิดตัวต่อเนื่องเพราะได้รับผลกระทบจากเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลง เนื่องจากมีสื่อดิจิตอลเข้ามาทดแทน ส่วนบรรจุภัณฑ์นั้นมีการเติบโต 10% เนื่องจากปัจจุบันการผลิตสินค้าต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์มากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อการส่งออก ทั้งนี้ ผลกระทบที่ยอดพิมพ์ลดลงไปทำให้โรงพิมพ์ขนาดกลางและใหญ่ปิดกิจการไป 4-5 ราย”

เป็นไปในทิศทางเดียวกับ คุณวิชัย สกุลวรารุ่งเรือง ที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ให้สัมภาษณ์สื่อหนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับและมีการนำมาเขียนต่อเป็นข่าวเดียวกัน ระบุว่า ปริมาณความต้องการสิ่งพิมพ์ปฏิทิน หนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ที่เป็นฉบับพิเศษ จากค่ายหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมการพิมพ์ปรับตัวดีขึ้นบ้างในช่วงปลายปี แม้ภาพรวมจะติดลบ เนื่องจากนิตยสารและวารสารต่างทยอยปิดตัวต่อเนื่องเพราะได้รับผลกระทบจากเงินโฆษณาที่ลดลง เนื่องจากมีสื่อดิจิตอลเข้ามาทดแทน

และสุดท้ายสรุปว่า

หนังสือพิมพ์ที่พิมพ์เนื้อหาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ทั้งหมดได้รับความนิยมมาก ยอดพิมพ์สูงขึ้นช่วงนี้ ส่วนยอดพิมพ์ปฏิทิน แม้ว่าโดยรวมยังคงทรงตัว แต่รูปแบบการนำเสนอยังคงเน้นรัชกาลที่ 9 เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ เชื่อว่าอย่างไรเสียหนังสือก็ไม่มีวันตาย แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะหันมาใช้ดิจิตอลมากขึ้น!!