บนถนนสร้างสรรค์กิจการ
คุณหงษ์ – ธนเดช เตชะทวีกิจ
หนุ่มมั่นแห่งโรงพิมพ์จอยปริ้นท์
ในวัยเด็ก..จากที่เคยติดตามคุณแม่ไปโรงพิมพ์ทุกวันเสาร์ และชอบไปนั่งเล่นที่ห้องเรียงพิมพ์ตัวอักษร แต่มาถึงวันนี้ “คุณหงษ์” ธนเดช เตชะทวีกิจ ลูกชายหนึ่งเดียวและเป็นน้องเล็กคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 3 คนของครอบครัว ได้กลายมาเป็นผู้รับไม้สานต่อกิจการครอบครัวในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท จอยปริ้นท์ จำกัด และนับเป็น “ทายาทไฟแรงรุ่นที่ 2”อีกคนที่มีแนวคิดและปรัชญาการทำงานที่น่าสนใจ
คุณหงษ์ มีดีกรีจบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการ (ภาษาอังกฤษ) และได้รับเกียรติทางสังคมโดยดำรงตำแหน่งนายกสโมสรโรตารี่กาญจนวนิช-หาดใหญ่ ปีการบริหาร 2558-2560, คณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าแสงทอง สมัยที่ 17-19, คณะกรรมการสมาคมSMEs จังหวัดสงขลา, คณะกรรมการ YEC จังหวัดสงขลา, และคณะกรรมการ YPG หรือ Young Printer Group สมาคมการพิมพ์ไทย
กำเนิดโรงพิมพ์ “จอยปริ้นท์”
คุณหงษ์ เล่าให้ฟังว่า เกิดที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ครอบครัวไม่ได้ทำธุรกิจโรงพิมพ์มาตั้งแต่แรกเหมือนใครอื่น แต่ก้าวเข้าสู่ถนนสายนี้จากการชักชวนของเพื่อนคุณแม่ให้มาเป็นหุ้นส่วนเปิดโรงพิมพ์เจริญอักษร โดยเพื่อนคุณแม่มีความรู้และความชำนาญทางด้านโรงพิมพ์ ขณะที่คุณแม่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านบัญชี
“ตอนนั้นผมยังเด็กมากจำได้ว่าตอนเด็กๆ ทุกวันเสาร์ช่วงบ่ายคุณแม่จะพาพวกเราไปโรงพิมพ์ด้วย ผมชอบไปอยู่ในห้องเรียงตัวอักษร นั่งเล่นกระบะที่ใส่ตัวอักษรตะกั่ว และบางทีก็ไปช่วยเรียงบิล แต่จริงๆ แล้วไปกวนมากกว่าช่วยเขา(ฮา) เวลาผ่านไปเกือบ 10 กว่าปีที่คุณแม่ทำงานที่นั่น ขณะเดียวกันพวกเราเริ่มโตกันแล้ว พี่สาวคนโตเมื่อเรียนจบระดับปริญญาตรี คุณแม่จึงวางแผนและเตรียมธุรกิจโรงพิมพ์ใหม่ เพื่อให้เป็นธุรกิจส่วนตัวของพวกเรา”
หลังจากเลือกทางเดินด้วยการขอแยกหุ้นแล้ว คุณแม่ก็ได้มาเปิดโรงพิมพ์จอยปริ้นท์ ในปี พ.ศ.2542 เริ่มด้วยเครื่องตีธง 2 เครื่อง, เครื่องพิมพ์ Gestener ขนาดตัด 11 จำนวน 2 เครื่อง และมีดตัดแบรนด์กวางหลง 1 เครื่อง โดยมีงานหลักเป็นประเภทพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน บิลเงินสด และเอกสารต่างๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำการธุรกิจโรงพิมพ์ของครอบครัว
ท่องยุทธจักรฝึกฝนวิชาการพิมพ์
ตอนเด็กๆ คุณหงษ์ไม่เคยคิดอยากจะทำธุรกิจด้านโรงพิมพ์ เพราะรู้สึกเหม็นสี เหม็นน้ำมัน และเสียงดัง เป็นช่างพิมพ์ มือก็ต้องเลอะหมึกเลอะน้ำมัน แต่ในช่วง ม.6 ตอนสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย กลับรู้สึกว่า เมื่อเรียนจบแล้วอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงเลือกเรียนทางด้านบริหารจัดการ และพอเรียนถึงปี 3 ก็เริ่มคิดทบทวนอีกว่า เรียนอีก 1 ปีจะจบแล้ว แล้วจะทำอะไรดี ระหว่างทำโรงพิมพ์หรือเปิดธุรกิจอื่น หรือไปเป็นพนักงานบริษัทที่ไหนสักแห่งเหมือนกับบรรดาพี่ๆ ในขณะนั้นที่จบแล้วก็ไปทำงานกรุงเทพฯ กันทั้งคู่ โดยพี่สาวคนโตทำงานเกี่ยวกับแม่พิมพ์โพลิเมอร์ระบบการพิมพ์เฟล็กโซ ส่วนพี่สาวคนที่ 2 เป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ
“ช่วงนั้นคุณแม่ก็เริ่มถามว่า จบมาจะทำโรงพิมพ์ต่อไหม ถ้าไม่ทำจะได้ไม่ต้องลงทุนเครื่องจักรเพิ่ม ผมจึงต้องหันกลับมาคิดอีกครั้งว่าจริงๆ แล้วตัวผมเองชอบธุรกิจโรงพิมพ์นี้ไหม ส่วนตัวผมเป็นคนชอบเล่นคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็ก และชอบอะไรที่เป็นเทคโนโลยี เรียนรู้โปรแกรมออกแบบเองตั้งแต่ CorelDraw 5 จนมาถึงตอนนี้ที่เป็น Adobe CS แล้ว แต่มาติดตรงที่ส่วนตัวผมไม่มีความรู้ทางด้านเครื่องจักรต่างๆ ของโรงพิมพ์เลย ที่ผ่านมาผมเห็นคุณแม่ต้องอาศัยช่างพิมพ์ตลอด หวั่นกลัวเขาลาออก ช่างพิมพ์อยากได้อะไรก็เอาใจหมด ทำให้ผมมีความคิดว่า ถ้าเราจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม เราต้องสามารถทำเองได้ และรู้เรื่องนั้นจริงๆ และถึงแม้เราจะรู้เรื่องไม่ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ต้องมีความเข้าใจ ไม่งั้นเราก็ต้องพึ่งคนอื่นตลอด”
สิ่งนี้เองทำให้คุณหงษ์รู้สึกถึงความท้าทาย อยากจะลองบริหารงานโรงพิมพ์ จากนั้นจึงเริ่มศึกษาทุกอย่างที่เกี่ยวกับงานด้านโรงพิมพ์ เริ่มตั้งแต่เวลาที่ช่างมาซ่อมเครื่องก็เข้าไปดูว่า เขาทำอย่างไร ซ่อมอะไร อยากรู้ก็ถาม ในสมัยนั้นหาที่เรียนรู้เรื่องนี้ยากมากจริงๆ ไม่เหมือนสมัยนี้ อยากรู้อะไรก็เปิด Google, Youtube ดูได้แล้ว เมื่อก่อนจะไปถามเอาความรู้อะไรจากโรงพิมพ์อื่นก็ไม่ได้
ต่อมาช่วงปิดเทอมระหว่างเรียนปี 3 ขึ้น ปี 4 จึงใช้เวลาไปอบรมเกี่ยวกับการพิมพ์ระบบออฟเซ็ตเบื้องต้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติประมาณ 3 เดือน ที่ศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีการพิมพ์แห่งชาติ มสธ. โดยเรียนรู้ครบทุกด้านตั้งแต่การพิมพ์เบื้องต้น, งานก่อนพิมพ์, การพิมพ์, และการทำงานหลังพิมพ์ และยังได้ไปฝึกงานในโรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประมาณ 1 สัปดาห์ ทำให้เข้าใจในธุรกิจการพิมพ์มากขึ้น
“หลังเรียนจบปริญญาตรีแล้ว ก็ยังไม่อยากไปทำงานที่โรงพิมพ์ รู้สึกว่าอยากไปเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมอีก จึงเข้าไปศึกษาการทำงานที่โรงปั้มเล็กๆ แห่งหนึ่งแถวพระราม 3 ซึ่งที่นั้นมีเครื่องปั้มมือและเครื่องปั้มลมนอน เจ้าของชื่อ เฮียจิ้ว ทำงานเพียงคนเดียวโดยไม่มีลูกน้อง ผมเลยขอเข้าไปทำงานแบบไม่รับค่าแรง แค่อยากได้ประสบการณ์ เฮียใจดีสอนผมหมดทุกอย่าง ไม่หวงความรู้เลย ทุกวันนี้ ยังติดต่อกับผมเป็นประจำ ถามข่าวกันตลอด ต้องขอบคุณเฮียจิ้วที่เป็นอาจารย์สอนผมอีกคน ผมทำได้อยู่ประมาณ 1 เดือน คุณแม่ก็เรียกผมกลับหาดใหญ่ด่วน เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับช่างพิมพ์ ผมเลยกลับไปดูกิจการครอบครัวนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”
8 ปีที่บริหารพอใจทีมงานมืออาชีพ
การทำงานธุรกิจของครอบครัว เป็นการรับไม้ต่อจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง จึงย่อมมีปัญหากันบ้างในเรื่องการบริหารจัดการ แต่ก็ใช้ความอดทนและพิสูจน์ตัวเอง เน้นการกระทำมากกว่าคำพูด ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปทีละอย่าง เนื่องจากไม่สามารถไปเปลี่ยนอะไรทีเดียวได้ เพราะคนที่สร้างมาเขาจะรับไม่ได้
“สิ่งหนึ่งที่ผมให้ใจคุณแม่มากๆ จะว่าเต็ม 100 เลยก็ได้ คือเรื่องการลงทุน ไม่เคยคัดค้านการตัดสินใจในการลงทุนซื้อเครื่องจักรเลย ให้เซ็นเช็คเอง ตัดสินใจเองเลยว่า จะลงทุนไหม เพียงแต่มีกรอบแนวคิดภายใต้คำพูดว่า ถ้าซื้อมาแล้วให้เครื่องเลี้ยงตัวมันเองได้ก็พอ แค่ประโยคนี้ประโยคเดียว แต่กลับคิดหนักเลย ดังนั้น ก่อนลงทุนจึงมีการทำการบ้านและศึกษาทุกอย่าง ทำให้ทุกเครื่องในโรงพิมพ์ต้องเป็นคนไปดูเอง และเรียนรู้ทุกอย่างก่อนตัดสินใจซื้อ เรียกว่าไม่มีเครื่องไหนที่ผมซื้อมาแล้วทำเองไม่เป็น แต่ถ้าถามว่า เคยลงทุนผิดพลาดไหม ตอบได้เลยว่าเคย แต่คุณก็ไม่ได้ว่าอะไรนะครับ แค่พูดเตือนๆ เหมือนจะให้ผมได้เรียนรู้ความผิดพลาดด้วยตัวเอง นับว่าเป็นข้อดีของคุณแม่ผมเลย”
หากพูดถึงปรัชญาการทำงานจะยึดหลักการที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” ซึ่งเป็นปณิธานของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องจากทางมหาลัยวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เรียนจบมา ได้ปลูกฝั่งสิ่งเหล่านี้ให้กับนักศึกษาทุกคน โดยส่วนตัวได้นำคำสอนดังกล่าวมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเชื่อว่าการที่เราอยากจะได้อะไรจากคนอื่นนั้น หรือให้เขาทำอะไรให้เรา เราต้องรู้จักให้ก่อนที่จะรับ แล้วเราก็จะได้รับสิ่งนั้นเองโดยไม่ต้องร้องขอ ไม่ใช่จะหวังผลประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว
“ตลอดเวลากว่า 8 ปีที่ได้เข้ามาบริหารกิจการจอยปริ้นท์ ผมไม่ได้มีความคิดที่จะแข่งขันกับใครเลยนอกจากแข่งกับตัวเอง พยายามพัฒนาศักยภาพให้ลูกทีมเป็นทีมงานมืออาชีพ ซึ่งในวันนี้รู้สึกพอใจแล้ว ส่วนอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนเหมือนกับเทคโนโลยี วันนี้อาจใช้เครื่องทันสมัยที่สุด แต่พอเวลาผ่านไปอาจจะมีเครื่องรุ่นใหม่ออกมาแล้ว ดังนั้น เราต้องขยันศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่มีงานจัดแสดงสินค้าเกี่ยวกับการพิมพ์ ผมจะไปดูงานด้วยตัวเองตลอด เพื่อจะนำกลับมาพัฒนาและศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม แม้กระทั่งถ้ามีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศก็จะไป เพราะคิดว่าเราจะวิ่งตามเทคโนโลยีคงจะวิ่งไม่ทัน แต่เราจะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะกับเราให้มากสุดถึงจะดี”
อย่างไรก็ตาม แม้คุณหงษ์จะมุ่งมั่นทำงานหนัก ทั้งด้านการบริการและการผลิต ทำให้มีวันหยุดน้อยกว่า แต่พอมีเวลาว่าง ซึ่งมักจะมีแค่วันอาทิตย์ ก็จะมีกิจกรรมหลักที่ทำ คือ การหาของกินอร่อยๆ และดูหนัง แต่ถ้าเป็นวันหยุดยาวๆ ชอบไปเที่ยวทะเล ซึ่งโชคดีที่อยู่ภาคใต้ ขับรถไม่กี่ชั่วโมงก็ได้เจอทะเลสวยๆ แล้วร่วมกิจกรรม Young Printer ด้วยใจ
ถามถึงที่มาของการเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม Young Printer คุณหงษ์เล่าย้อนกลับไปว่า หลังจากทราบข่าวว่า สมาคมการพิมพ์ไทย ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มทายาทนักธุรกิจการพิมพ์ โดยมีการจัดตั้งกลุ่ม Young Printer ขึ้นมา ทำให้อยากสมัครเข้าร่วม เพราะจะได้เปิดโอกาสให้ตัวเอง ได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มเติม
เมื่อโอกาสมาถึง..โดยสมาคมการพิมพ์ไทยได้มีการจัดงานสัญจรภาคใต้ ที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จึงเข้าไปสมัคร นับตั้งแต่นั้นมาจึงเป็นหนึ่งในสมาชิก Young Printer และได้เข้าร่วมกิจกรรมแทบทุกครั้งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
“ครั้งแรกที่เข้าร่วมกลุ่ม ก็ได้ไปทำกิจกรรมกันที่พัทยา ทำให้ผมได้มีโอกาสเข้ามารู้จักพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ที่ดีๆ และช่วยเหลือกันในทุกๆ เรื่องครับ ไม่ว่าจะปรึกษาเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว และอื่นๆ ทุกคนไม่เคยคิดเลยว่า เราเป็นโรงพิมพ์เล็กๆ อยู่ต่างจังหวัด มันเป็นอะไรที่อบอุ่นกันมากๆ มิตรภาพดีๆ แบบนี้หาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว”
ปัจจุบันได้รับตำแหน่งเป็นคณะกรรมการ Young Printer สมัยที่ 2 หน้าที่หลัก คือ การช่วยประสานงานของสมาคมการพิมพ์กับคนในพื้นที่ภาคใต้ และหาสมาชิก Young Printer ในภาคใต้ อาจจะไม่ค่อยได้เข้าประชุมประจำเดือนกับคณะกรรมการเท่าไร เนื่องจากอยู่ไกล แต่หากมีกิจกรรมเมื่อใดที่สามารถเข้าร่วมได้ ก็พร้อมจะเข้าร่วมเสมอ โดยที่คุณหงษ์เชื่อว่า ทุกคนที่เป็นคณะกรรมการ ต่างเสียสละเวลาที่จะทำให้ภาพอุตสาหกรรมนี้ดีขึ้น
อนาคตการพิมพ์ “รวมกันอยู่ แยกกันตาย”
สำหรับอนาคตของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย คุณหงษ์มองว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันอยู่เราตาย” สมัยนี้ การทำธุรกิจไม่เหมือนสมัยก่อนที่ซื้อเครื่องจักรมาทำอะไร ก็ไม่ให้คนอื่นรู้เพราะเป็นความลับ ส่วนตัวมองว่า สมัยนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว อยากดูเครื่องอะไรทำงานอย่างไร ก็สามารถเปิดหาใน Google หรือ Youtube ก็เจอแล้ว ในทางกลับกัน การที่รู้ว่าแต่ละโรงพิมพ์มีเครื่องอะไร ถนัดงานด้านไหน จะเป็นข้อดีมากกว่า ทำให้สามารถส่งต่องานให้กันและกันได้ จะได้ไม่ลงเครื่องซ้ำๆ กัน
“ผมเข้าใจเลยว่า ช่วงที่ไม่มีงาน แต่ยังต้องผ่อนค่าเครื่อง ต้องจ่ายเงินเดือนพนักงาน จึงต้องทำยังไงก็ได้ขอให้ได้งานมากที่สุด ในบางงานขาดทุนหรือเสมอตัวก็ต้องยอม จึงเป็นปัญหา และอีกอย่างที่ผมเห็นแล้วเสียดาย คือโรงพิมพ์ยุคเก่าๆ ที่มีชื่อเสียงกำลังหายไป มีแต่ร้านออกแบบที่เพิ่มขึ้นมา เพราะส่วนหนึ่งลูกหลานไม่ยอมรับช่วงต่อ และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่ปรับตัว เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ มันน่าเสียดายจริงๆ ครับ”
สุดท้ายนี้ อยากเชิญชวนพี่ๆ น้องๆ ที่เป็นทายาทในแวดวงการพิมพ์ ไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดไหนของประเทศไทย ก็สามารถร่วมเป็นสมาชิกกับกลุ่ม Young Printerได้ ยุคนี้ระยะทางใกล้ไกลไม่มีปัญหาอีกแล้ว โดยเฉพาะทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้การสื่อสารง่ายขึ้น มีกลุ่ม Line ที่สามารถพูดคุยกันได้เสมอ ทำให้ใครมีงานอะไรก็แชร์กัน ใครทำได้ก็รับทำกันไป พวกเราช่วยกันแล้ว พวกเราจะอยู่รอดนะครับ.. สู้ๆ