บิ๊กดีลธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ไทย ‘อมรินทร์’จับมือ‘สิริวัฒนภักดี’
เพิ่มทุนต่อสายป่านทีวีดิจิตอล
ดังพลุแตก!! กับบิ๊กดีลแห่งวงการธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ของไทย หลังจาก บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) (AMARIN) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนขายให้แก่ กลุ่มสิริวัฒนภักดี ตระกูลที่เข้าไปเทกโอเวอร์บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาแล้วหลากหลายวงการด้วยกัน
ย้อนกลับไปในห้วง 2 –3 ปีที่ผ่านมา ก่อนเกิดบิ๊กดีลในครั้งนี้จะพบว่า นิตยสารทั้งหัวไทยและเทศหลายฉบับค่อยๆ ปิดตัวไปเกินกว่ากึ่งหนึ่งของวงการ ทำให้เกิดคำถามในวงกว้างว่า ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตายแล้วจริงหรือ? หากดูเฉพาะเม็ดเงินโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์อันเป็นรายได้หลักของคนทำธุรกิจนี้จะได้คำตอบว่า จริง.. เพราะมีการส่งสัญญาณถดถอยเป็นระยะๆ ผ่านตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาที่มีแต่ “ทรง” กับ “ทรุด” เหมือนเลือดไหลไม่หยุด
โดยผู้ประกอบการที่ยังพอมีสายป่านยาวก็ดิ้นรนปรับตัวไม่อยู่เฉย ทั้งเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอบ้าง ลดความถี่การตีพิมพ์บ้าง หรือแม้กระทั่งระงับการพิมพ์ชั่วคราวบ้างก็มี แต่ในที่สุดหลายรายก็ไม่อาจต้านทานความทันสมัยของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยพัฒนาให้การเสพข่าวเป็นเรื่องง่าย สะดวก และรวดเร็วทันใจ จนไม่จำเป็นต้องอดใจรออ่านนิตยสารอีกต่อไป
ยักษ์ใหญ่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์อย่าง บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีการปรับตัวเรื่อยมาเช่นกัน เมื่อ 3 ปีที่แล้วรุกขยายอาณาจักรเข้าสู่สื่อทีวีหวังช่วยต่อลมหายใจให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ดูผิวเผินเหมือนสื่อทีวีที่กระโดดเข้ามาจะเห็นเค้กก้อนโตที่หอมหวนกว่าเค้กก้อนเดิม เพราะเม็ดเงินที่สะพัดในสื่อนี้แตะหลักหมื่นล้านบาท ถือเป็นมูลค่าสูงที่สุดในบรรดาทุกสื่อโฆษณาทั้งหมด แต่ท่ามกลางเค้กชิ้นใหญ่ย่อมเป็นที่หมายปองของคนหมู่มาก จึงเป็นธรรมดาที่จะเห็นการแข่งขันดุเดือดตามไปด้วย
การปรับตัวก้าวสู่ธุรกิจสื่อทีวีของ “อมรินทร์ฯ” เริ่มขึ้นในนาม บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจทีวีดาวเทียมภายใต้ชื่อ “อมรินทร์ แอคทีฟ ทีวี” (Amarin Activ TV) ออกอากาศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556 จากนั้นในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2557 ได้หยุดการออกอากาศชั่วคราว เพื่อปรับรูปแบบการออกอากาศและเปลี่ยนชื่อช่องใหม่เป็น “อมรินทร์ทีวี” หลังจากเป็นหนึ่งในผู้ชนะการประมูลช่องโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาพความคมชัดสูง ช่อง 34 (HD TV) และได้รับใบอนุญาตการออกอากาศ จาก กสทช. เป็นระยะเวลา 15 ปี
ความพยายามปรับตัวเปลี่ยนทิศทางธุรกิจเพื่อพุ่งไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ด้วยการดึง “คอนเท้นต์” เป็นฐานเดิมที่แข็งแกร่งมารองรับการขยายตัว ดูจะเป็นข้อได้เปรียบของยักษ์ใหญ่รายนี้ แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด นอกจากมีปัจจัยการแข่งขันสูงแล้ว ฟากการลงทุนยอดก็สูงเช่นกัน
ทั้งจากต้นทุนการประมูลใบอนุญาต ค่าเช่าโครงข่าย และการผลิตรายการ ขณะที่การสร้างรายได้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่การกำหนดอัตราค่าโฆษณาที่จะสูงหรือต่ำต้องสอดรับกับเรตติ้งผู้ชม ทำให้ “อมรินทร์ฯ” ประสบภาวะผลประกอบการขาดทุนจากการดำเนินงาน ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity) ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 อัตราสูงถึง 4.32 เท่า
นี่จึงเป็นที่มาของการปรับตัวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 6/2559 ประชุมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 เวลา 18.00 น. มีมติอนุมัติเรื่องสำคัญ ดังนี้
1. มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติการลดทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จำนวน 135 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 220,000,000 บาท เป็นจำนวน 219,999,865 บาท โดยการตัดหุ้นสามัญที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ออกจำหน่ายของบริษัทจำนวน 135 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท และแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทฯ ข้อ 4.เพื่อให้สอดคล้องกับการลดทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ
2. มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จำนวน 200,000,000 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 219,999,865 บาท เป็นจำนวน 419,999,865 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 200,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ1 บาท เพื่อจัดสรรและเสนอขายให้แก่ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดยนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี (“ผู้ซื้อ”) ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 850,000,000 บาท โดยภายหลังจากการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าว ผู้ซื้อจะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ47.62 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ (ภายหลังการจดทะเบียนเพิ่มทุนชำระแล้วของบริษัทฯ) (“การจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ให้แก่ผู้ซื้อ”) และแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทฯ ข้อ 4. เพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ
คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนที่จะได้รับจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ เพื่อการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจทีวีดิจิตอลที่อยู่ในช่วงของการเริ่มต้นธุรกิจซึ่งมีต้นทุนการดำเนินการที่สูง โดยใช้สำหรับการชำระค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล (“ใบอนุญาตดิจิตอลทีวี”) การชำระค่าบริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลรายเดือน การชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในดำเนินธุรกิจ เช่น การผลิตรายการโทรทัศน์ เป็นต้น โดยบริษัทฯ มีแผนการใช้เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนนี้ภายในต้นปี 2561 ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อให้บริษัทฯ สามารถดำเนินการต่างๆ ได้ตามที่กล่าวข้างต้น
นอกจากนี้ จากการที่ในปัจจุบัน ภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจทีวีดิจิตอลมีการแข่งขันสูง บริษัทฯ จึงเห็นว่าการที่บริษัทฯ จะมีพันธมิตรทางธุรกิจ (StrategicPartner) ที่มีความพร้อมในด้านเงินทุนและมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงมีสถานะทางการเงินและสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย จะทำให้บริษัทฯ ได้รับเงินตามจำนวนที่ต้องการ และยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจได้บริษัทฯ จึงพิจารณาเห็นว่า การเพิ่มทุนโดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัดมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันของบริษัทฯ
อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อไม่ประสงค์ที่จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯ และมีความประสงค์ที่จะขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯ โดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ (Whitewash) ทั้งนี้ จะเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ โดยกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 9 ธันวาคม 2559 และให้รวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้นตามมาตรา 225 โดยวิธีปิดสมุดทะเบียนและพักการโอนหุ้นใน วันที่ 13 ธันวาคม 2559