ธปท.พิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี
“ธนาคารแห่งประเทศไทย” หรือ ธปท. จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี วันที่ 9 มิถุนายน 2559 และน้อมนำจิตใจของปวงชนชาวไทยให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอเนกประการ
ภาพด้านหน้า เชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และพระสังวาลปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ทรงยืนเบื้องหน้าพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งเป็นพระราชอาสน์ที่ทรงรับการถวายสิริราชสมบัติและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ภาพด้านหลัง เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระแสงขรรค์ชัยศรี ทรงยืนเบื้องหน้าพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง
- ภาพประธานด้านหน้าและด้านหลัง พิมพ์ด้วยลายพิมพ์เส้นนูน มีลักษณะคมชัด จะรู้สึกสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ
- ตัวเลขไทย “๗๐” ที่ด้านหน้าและด้านหลังธนบัตร พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกไปมา จะเป็นประกายระยิบระยับ
- ตัวเลขอารบิก “70” ที่ด้านหลังธนบัตร พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกไปมา จะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียว
- ภายในรูปพระครุฑพ่าห์ ที่ด้านหน้าธนบัตร มีตัวเลขแฝงเป็นตัวเลขอารบิก “70” ซ่อนไว้ ซึ่งมองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง
- ลายรัศมีและลายพื้นเบื้องหลังภาพประธาน ทั้งด้านหน้าและด้านหลังธนบัตร จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเรืองแสง เมื่อส่องภายใต้รังสีเหนือม่วง
ทั้งนี้ คุณวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกชนิดราคา 70 บาท จำนวน 20 ล้านฉบับ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2559 โดยธนบัตรที่ระลึกฯ ที่จัดพิมพ์ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 สำหรับ 2 ครั้งก่อนคือ ธนบัตรที่ระลึกฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อปี 2539 และ 60 ปี เมื่อปี 2549 ความพิเศษ คือ ขนาดใหญ่กว่าธนบัตรทั่วไป มีความกว้าง 89 มิลลิเมตร หมายถึงพระชนมายุครบรอบ 89 พรรษา ความยาว 162 มิลลิเมตร นำหมายเลขทั้งหมดมาบวกรวมกันเท่ากับ 9 หมายถึง รัชกาลที่ 9
“ความโดดเด่นด้านการพิมพ์คือ ภาพประธานด้านหน้าและด้านหลัง พิมพ์ด้วยลายพิมพ์เส้นนูน มีลักษณะคมชัด จะรู้สึกสะดุด เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ ซึ่งตัวเลขไทย “๗๐” ที่ด้านหน้าและด้านหลังธนบัตร พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกไปมา จะเป็นประกายระยิบระยับ ส่วนตัวเลขอารบิก “70” ที่ด้านหลังธนบัตร พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษสลับสีเมื่อพลิกไปมา จะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียว ทั้งนี้ ภายในรูปพระครุฑพ่าห์ที่ด้านหน้าธนบัตร มีตัวเลขแฝงเป็นตัวเลขอารบิก “70” ซ่อนไว้ จะมองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง รวมทั้ง ลายรัศมีและลายพื้นเบื้องหลังภาพประธานทั้งด้านหน้าและด้านหลังธนบัตร จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเรืองแสง เมื่อส่องภายใต้รังสีเหนือม่วง(ยูวี)” คุณวิรไท กล่าว
นอกจากนี้ ธปท. ออกใช้ธนบัตรที่ระลึกดังกล่าว ในวันที่ 9 มิถุนายน 2559 โดยจ่ายแลกพร้อมแผ่นบรรจุในราคา 100 บาท คาดว่าจะมีจำนวนเพียงพอกับความต้องการของประชาชนโดยไม่ต้องพิมพ์เพิ่มอีก ทั้งนี้ รายได้ส่วนต่าง 30 บาท ในการแลกธนบัตร หรือรวมทั้งสิ้น 600 ล้านบาท จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว