เครื่องดื่มทำให้อ้วนได้จริงหรือ?

p150-152_2

เครื่องดื่มทำให้อ้วนได้จริงหรือ?

จะมีกี่คนที่คิดว่า เครื่องดื่มรสหวานเย็น หอมชื่นใจ ที่ดื่มอยู่ทุกวัน จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มความอ้วนให้กับเรา

มีรายงานการศึกษาจากต่างประเทศที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า นับวันคนทั่วโลกจะดื่มเครื่องดื่มชนิดต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับความก้าวหน้าของธุรกิจและการตลาด ทำให้มีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชนิดใหม่ๆ แปลกๆ มากมายมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และในจำนวนเครื่องดื่มที่บริโภคมากขึ้น เช่น กาแฟเย็นที่มีรสหวาน มัน หอม กลมกล่อม อุดมด้วยครีมและเนย จะส่งผลต่อน้ำหนักตัวและความอ้วนได้

p150-152_3

1 ใน 3 ของความอ้วน… เกิดจากเครื่องดื่มรสหวาน

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งสรุปว่า 1 ใน 3 ของความอ้วนหรือน้ำหนักของชาวอเมริกันที่เพิ่มมากขึ้น มีสาเหตุมาจากการบริโภคเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีรสหวานจากส่วนผสมของน้ำตาล และ/หรือครีมเทียมที่เสริมความมัน เพิ่มรสชาติของเครื่องดื่มให้กลมกล่อม น่ากิน

อธิบายได้ง่ายๆ ว่า เครื่องดื่มเหล่านี้มักผสมด้วยน้ำตาลและไขมัน ทำให้มีปริมาณสารอาหารที่ให้พลังงานเป็นจำนวนมาก ทางการแพทย์เรียกว่า มีแคลอรี (calories) เมื่อถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย แล้วไม่ถูกนำไปใช้เป็นพลังงาน ก็จะถูกนำไปสะสมเป็นไขมัน ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และก็อ้วนขึ้นได้
นอกจากนี้ ยังมีอีกการศึกษาหนึ่งที่ติดตามกลุ่มตัวอย่างนานถึง 8 ปี พบว่า ผู้หญิงที่เพิ่มการดื่มเครื่องดื่มรสหวานอีกวันละ 1 แก้ว จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 8 กิโลกรัม ในช่วงที่ทำการศึกษาวิจัย ในขณะที่ผู้หญิงที่ลดเครื่องดื่มรสหวานลง 1 แก้ว/วัน จะสามารถลดน้ำหนักลงได้เพียง 2.8 กิโลกรัมเท่านั้น

เครื่องดื่มรสหวาน… เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

มีรายงานวิจัยหนึ่งพบว่า ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มรสหวานจากน้ำตาล จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากยิ่งขึ้น โดยเครื่องดื่มชนิดนี้จะส่งผลต่อขนาดของสารแอลดีแอล หรือไขมันไม่ดี (LDL : low density lipoprotein) ระดับน้ำตาลในเลือด และสาร C-protein

นอกจากนี้ เครื่องดื่มรสหวานยังส่งผลทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคฟันผุ อีกด้วย ดังนั้น เครื่องดื่มจึงส่งผลต่อสุขภาพของเราได้ ประกอบกับในโลกยุคปัจจุบันที่มีเครื่องดื่มหลากหลายชนิด มานำเสนอขายให้กับประชาชนได้บริโภคอย่างมากมาย ตามตู้แช่ เครื่องหยอดเหรียญ หรือซุ้มกาแฟ ไม่ว่าจะเป็น น้ำดื่ม ชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม

ในที่นี้จึงขอเสนอแนวทางการเลือกบริโภคเครื่องดื่มให้เหมาะสมและดีกับสุขภาพของเรา โดยจะขอแบ่งกลุ่มของเครื่องดื่มเป็น 6 กลุ่ม ตามคุณค่าของเครื่องดื่มต่อสุขภาพจากมากไปน้อย ดังนี้

1. น้ำดื่ม จะเป็นน้ำกลั่น น้ำกรอง น้ำต้มสุก หรือน้ำฝน ล้วนเป็น “เครื่องดื่มที่ดีที่สุด” มีประโยชน์ต่อสุขภาพช่วยให้การทำงานต่างๆ ของร่างกาย เช่น การเผาผลาญพลังงาน การหายใจ การหลั่งเหงื่อ การขับปัสสาวะ เป็นปกติ นอกจากนี้ น้ำยังช่วยแก้กระหาย และความชุ่มชื้นต่อร่างกายอีกด้วย
หลายคนอาจสงสัยว่า ในวันหนึ่งร่างกายของเราควรได้รับน้ำปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสม สำหรับในประเทศจะแนะนำให้ดื่มน้ำประมาณวันละ 2 ลิตร ซึ่งส่วนหนึ่งอาจได้จากอาหารที่กินเข้าไปแล้ว

p150-152_4

2. ชาและกาแฟ (ไม่เติมน้ำตาลและครีม) รองจากน้ำดื่ม คือ ชาและกาแฟ นับเป็นเครื่องดื่มที่นิยมดื่มเป็นอันดับ 2 และจะดีกับสุขภาพ ถ้าหากดื่มชาและกาแฟชนิดที่ไม่ต้องเติมน้ำตาลและครีม (หรือนมสด) เพราะเฉพาะชาหรือกาแฟเดี่ยวๆ จะไม่มีแคลอรีอยู่เลย จึงไม่ส่งผลต่อน้ำหนักตัวและความอ้วน

นอกจากนี้ ชาจะประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ฟลาวานอยด์ และสารอื่นๆ ที่จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย อาจช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ลดอาการฟันผุ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด และลดการเกิดนิ่วที่ไตได้

ส่วนกาแฟก็จะช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ หากชาเขียวก็มีรายงานว่า ช่วยป้องกันโรคหัวใจได้

ทั้งชาและกาแฟมีสารกาเฟอีนเหมือนกัน แต่พบในกาแฟมากกว่าในชา สารกาเฟอีนนี้ส่งผลไปกระตุ้นสมอง ทำให้ไม่ง่วงนอน กระตุ้นการหายใจ การเต้นของหัวใจ และเพิ่มการขับปัสสาวะ ซึ่งบางคนอาจจะไวต่อสารกาเฟอีนนี้ได้ โดยมักมีอาการใจสั่น (หัวใจเต้นเร็ว) เมื่อดื่มกาแฟ จึงควรหลีกเลี่ยงกาแฟ

p150-152_6

3. นมและน้ำเต้าหู้ที่มีไขมันต่ำ นมเป็นสารอาหารที่สำคัญของเด็กที่อุดมไปด้วยโปรตีน แคลเซียม และวิตามินดี ส่วนน้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองที่เติมแคลเซียมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่แพ้นมวัว แต่ก็มีรายงานว่า นมมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากและมดลูก ในผู้ใหญ่จึงควรดื่มนมไม่เกินวันละ 2 แก้ว

4. เครื่องดื่มรสหวานที่ไม่ใช้น้ำตาล เครื่องดื่มประเภทนี้มีส่วนผสมของสารที่ให้ความหวานชนิดอื่นที่ไม่ใช้น้ำตาล เช่น แอสพาร์แทม (aspartame) แซ็กคาริน (saccharin) ฯลฯ ตัวอย่างเช่น ไดเอ็ทโค๊ก เป็ปซี่ซีโร่ เป็นต้น ซึ่งเป็นน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลที่ให้แคลอรี (พลังงานแก่ร่างกาย) จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ยังติดรสชาติของน้ำอัดลม แต่ไม่ต้องการแคลอรี แต่ก็มีรายงานมีส่วนทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้

5. เครื่องดื่มที่ผสมสารอาหาร กลุ่มนี้ได้แก่ น้ำผลไม้ น้ำผัก นม เครื่องดื่มเกลือแร่ เครื่องดื่มเสริมวิตามิน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ควรระวังถึงจำนวนแคลอรีหรือจำนวนพลังงานที่มีอยู่ในเครื่องดื่ม ที่จะส่งผลเพิ่มน้ำหนักตัวของผู้ที่เดิมได้

p150-152_5

6. เครื่องดื่มรสหวานจากน้ำตาล กลุ่มนี้ถือเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าน้อยที่สุด ไม่แนะนำให้ดื่มเป็นประจำ เพราะมีส่วนผสมของน้ำตาลที่ให้ความหวานแก่ผลิตภัณฑ์ เพราะถ้าดื่มเป็นประจำจะทำให้ร่างกายได้พลังงานเพิ่มขึ้น ถ้าใช้ไม่หมด ก็จะไปสะสมเป็นไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ยังส่งผลต่อโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคฟันผุอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ประเภท smoothies กาแฟชนิด 3 in 1 กาแฟพร้อมดื่ม ฯลฯ ซึ่งอุดมไปด้วยน้ำตาล ครีม หรือนม จึงมีพลังงานหรือจำนวนแคลอรีในปริมาณที่สูง
จากการแบ่งกลุ่มเครื่องดื่มที่มีผลต่อสุขภาพเป็น 6 กลุ่ม เรียงตามผลดีที่มีต่อสุขภาพจากมากไปน้อยนั้น ในทางปฏิบัติจะแนะนำว่า ในปริมาณน้ำหรือเครื่องดื่มที่จะบริโภคไปทั้งหมดใน 1 วันนั้น มากกว่าร้อยละ 70 ควรเป็นเครื่องดื่มในกลุ่มที่ 1 และ 2 รวมกัน อันได้แก่ น้ำ ชา และกาแฟรวมกัน และจะต้องเป็นกาแฟและชาที่ไม่เติมน้ำตาลและครีม

ส่วนที่เหลืออีกไม่เกินร้อยละ 30 เป็นเครื่องดื่มในกลุ่มที่ 3-6 รวมกัน โดยภาพรวมแล้ว ถือว่า น้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มที่ดีที่สุด ควรดื่มเป็นประจำ และเป็นปริมาณส่วนใหญ่ของเครื่องดื่มทั้งหมด

ส่วนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและครีมเป็นเครื่องดื่มมีคุณค่าต่อสุขภาพน้อยที่สุด ไม่ควรดื่มเป็นประจำ ถ้าไม่ดื่มเลยก็จะดีที่สุด เพราะจะส่งผลต่อสุขภาพทั้งในด้านน้ำหนักตัว ความอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และฟันผุ อีกด้วย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า