“พระขันธกุมาร” ถ้ำบาตู
มหาเทพนักรบแห่งสวรรค์ของชาวฮินดู
นอกจาก “ตึกแฝดปิโตรนาส” และ “หอคอยKL” จะเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์แห่งประเทศมาเลเซียที่ผู้คนหลั่งไหลไปเยี่ยมชมแล้ว “ถ้ำบาตู (Batu Cave)” ยังเป็นอีกหนึ่งแลนมาร์กที่น่าสนใจ มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไปเยือนจำนวนมากเช่นกัน โดยเฉพาะการไปชมความอลังการของประติมากรรม “พระขันธกุมาร” ซึ่งตระหง่านอยู่หน้าบันไดทางขึ้นไปสู่ถ้ำ
“ถ้ำบาตู” นอกจากเป็นวัดและสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญในศาสนาฮินดู ที่มีมวลชนเดินทางกันไปกราบไหว้ด้วยพลังศรัทธาตลอดทั้งปีแล้ว ยังได้รับการยกให้เป็นสัญลักษณ์ของรัฐสลังงอร์ที่คนทุกเชื้อชาติมุ่งตรงมาเช็คอินไม่ขาดสาย โดยมีที่ตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงกัวลาลัมเปอร์ห่างไปประมาณ 13 กิโลเมตร มีลักษณะทางกายภาพเป็นภูเขาหินปูนประกอบไปด้วยถ้ำใหญ่น้อยหลายถ้ำรวมกัน สันนิษฐานว่า ถ้ำน่าจะมีอายุราวๆ 400 ล้านปี ส่วนวัดได้รับการสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 2493
ว่าด้วยประติมากรรม “พระขันธกุมาร” สร้างขึ้นแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2549 เพื่อเป็นการบูชา “พระขันธกุมาร” หรือที่ชาวฮินดูเรียกว่า “ลอร์ด มูรูกัน (Lord Murugan)” ซึ่งเป็นลูกชายคนที่ 2 ของ “พระอิศวร” และ “พระแม่อุมาเทวี” รวมทั้งมีศักดิ์เป็นน้องชายของ “พระพิฆเนศ” โดยยืนโดดเด่นเป็นสง่าด้วยความสูงถึง 42.7 เมตร หล่อด้วยปูนคอนกรีต 1,550 ลูกบาศก์เมตร ใช้เหล็กเส้นหนัก 250 ตัน และใช้สีทองทาองค์รูปปั้นปริมาณมากถึง 300 ลิตร ซึ่งซื้อจากประเทศไทย
สำหรับทางขึ้นไปสู่ถ้ำบาตู มีบันไดให้เดินจำนวน 272 ขั้น ภายในถ้ำเป็นเหมือนห้องโถงใหญ่ รายล้อมไปด้วยรูปปั้นเทพองค์ต่างๆ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู โดยตรงกลางถ้ำมีช่องเปิด มองเห็นท้องฟ้าได้ ถัดไปอีกนิดมีบันไดอีกประมาณยี่สิบขั้นให้เดินขึ้นต่อไป ซึ่งมีศาสนสถานสำหรับใช้ทำพิธีกรรม
สิ่งที่น่าสนใจของ “ถ้ำบาตู” เห็นจะเป็นการบอกเล่าเหตุการณ์สำคัญๆ ในแต่ละช่วงวัยของ “พระขันธกุมาร” ผ่านรูปปั้นที่ตั้งเรียงรายอยู่หลายจุด ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยเยาว์มีรูปปั้นครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา ทั้งพ่อ (พระอิศวร) แม่ (พระแม่อุมาเทวี) และพี่ชาย (พระพิฆเนศ) ช่วงพิธีแต่งงานกับ “นางเทวยานี (ลูกของพระอินทร์)” และ “นางวัลลี (ลูกนายพรานป่า)” รวมไปถึงช่วงอุ้มลูกตัวน้อยนั่งอยู่บนตัก โดยมีภรรยาทั้งสองยืนขนาบคนละข้าง
ทั้งนี้ ตำนานระบุว่า “นางเทวยานี” และ “นางวัลลี” ในชาติก่อนเป็นพี่น้องกัน โดยทั้งสองได้สวดอ้อนวอน “พระขันธกุมาร” เพื่อขอเป็นชายาของพระองค์ ดังนั้น จึงให้พรทั้งคู่ว่าในชาติต่อไปจะได้แต่งงานกับพระองค์ โดย “นางเทวยานี” มาเกิดใหม่เป็นลูกของพระอินทร์ ขณะที่ “นางวัลลี” มาเกิดใหม่เป็นลูกของนายพรานป่า
ส่วนตำนานและการกำเนิดพระขันธกุมารนั้น มีเป้าหมายเพื่อมาปราบอสูรร้ายในโลกของเทวดา โดยท่านมี 6 พระเศียร 6 พระพักตร์และมี 12 พระกร (ประติมากรรมหน้าถ้ำบาตูเป็นปางปกติของเทวดาคือมี 1 เศียร 1 พระพักตร์และ 2 พระกร) ส่วนผิวพรรณนั้นงดงามราวกับดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ แต่รูปร่างสง่างามดุจพระสุริยะเทพ
ทั้งนี้ แต่ละพระพักตร์เป็นตัวแทนถึง 1.ความฉลาด 2.พละกำลัง 3.ความร่ำรวย 4.ชื่อเสียง 5.ความเที่ยงธรรม และ 6.พลังแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยมีพาหนะคือนกยูง พระองค์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพแห่งกองทัพสวรรค์ เพื่อปกป้องสวรรค์จากการรังควาญของเหล่าอสูรร้าย
ใครได้กราบไหว้และบูชาพระขันธกุมาร จะได้รับพรทั้ง 6 ประการ ทำให้พระองค์เป็นที่เคารพนับถืออย่างมากของชาวอินเดียตอนใต้โดยเฉพาะพวกทมิฬ
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปกราบไหว้บูชาตลอดทั้งปี แต่ถ้าใครอยากไปในช่วงเทศกาลสำคัญต้องไปในช่วงเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ของทุกปี เพราะจะมีการจัด “เทศกาลไทปูซัม (Thaipusam Festival)” เพื่อรำลึกถึงวันที่ “พระขันธกุมาร” เสด็จออกจากถ้ำ ซึ่งจะมีมหาชนทั่วทุกสารทิศแห่มาร่วมพลังศรัทธากันแน่นขนัดเต็มพื้นที่วัดเลยทีเดียว และจะได้ชมพิธีการที่สวยงามอลังการมากมาย
อาทิ การทำพิธีบูชาและขอบพระคุณ โดยผู้เข้าร่วมพิธีจะร่วมแบก “กาวาดี” ซึ่งเป็นที่ประทับของพระขันธกุมาร ซึ่งจะออกแบบและตกแต่งด้วยดอกไม้และขนนกยูงอย่างงดงาม ผู้แบกจะร่ายรำระหว่างที่ทำพิธีกรรมสักการะบูชา แสดงความวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระขันธกุมาร
การเสด็จออกจากถ้ำนั้น มีตำนานระบุว่า เมื่อครั้ง “พระศิวะ” ประกาศจะให้คัมภีร์วิเศษแก่ลูกของท่านองค์ใดองค์หนึ่งที่สามารถเดินทางรอบจักรวาลได้ครบ 3 รอบก่อน “พระขันธกุมาร” มีพาหนะคือนกยูงรำแพนแสนสวย พอได้ฟังก็รีบกระโดดขึ้นพาหนะคู่ใจ แล้วทำการเหาะไปอย่างเร็วมากๆ ขณะที่ “พระพิฆเนศ” มีพาหนะหนูน้อยตัวเล็กไม่สามารถไปเหาะเหินเดินอากาศแข่งกับนกยูงของพระขันธกุมารได้
ดังนั้น “พระพิฆเนศ” เลยต้องใช้ปัญญาอันชาญฉลาดว่า พ่อและแม่ อันได้แก่ พระศิวะและพระแม่อุมาเทวีคือจักรวาลที่แท้จริงของลูก เมื่อคิดได้ดังนี้จึงไม่ได้ไปเหาะแข่งกับ “พระขันธกุมาร” แต่ใช้เดินวนรอบพ่อและแม่ 3 รอบ ซึ่งทำให้ได้ใจพ่อไปเต็มๆ จึงได้รับชัยชนะในการแข่งขันครั้งนี้ และได้รับมอบคัมภีร์สูงสุดจาก “พระศิวะ” รวมทั้งได้รับการเลื่อนขั้นให้เป็นเทพผู้พี่และได้รับการขนานนามเป็นเทพผู้ขจัดอุปสรรค
ขณะที่ “พระขันธกุมาร” เมื่อเหาะรอบโลกเสร็จแล้วกลับมาพบว่า “พระพิฆเนศ” ได้รับการประกาศชัยชนะไปแล้วก็ไม่พอใจ อีกทั้งโกรธ “พระศิวะ” และ “พระนางอุมาเทวี” เลยพาตัวเองไปจำศีลที่ถ้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง ไม่ยอมออกมาพบใครอีกเลยนับเป็นพันๆ ปี จนถึงวันหนึ่งมีเทพมาเชิญออกมาจากถ้ำเพื่อทำหน้าที่หัวหน้ากองทัพสวรรค์ไปปราบอสูรที่ชื่อ “ตาระกาสูร” ที่มีอิทธิฤทธิ์มากและรุกรานเทวดาอย่างหนัก จึงเป็นที่มาของการขนานนาม “มหาเทพนักรบแห่งสวรรค์”