“เทพทันใจ” ในเมียนมาร์ ที่พึ่งทางใจของคนไทย

p138-141_2

“เทพทันใจ” ในเมียนมาร์
อีกหนึ่งที่พึ่งทางใจของคนไทย

หนึ่งในโปรแกรมทัวร์ยอดฮิตและมีปรากฏในสิ่งพิมพ์หนังสือนำเที่ยวเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ และนับวันดูเหมือนจะได้รับความนิยมจากคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ คือการไปบูชาเซ่นไหว้ “องค์เทพทันใจ” หรือ “นัตโบโบจี” เพื่อบนบานศาลกล่าวให้สิ่งที่ขอประสบความสำเร็จ

ความจริงสรรพนามคำเรียกว่า “องค์เทพทันใจ” ว่ากันว่า เป็นคนไทยบัญญัติขึ้น เหตุเพราะไปขอพรแล้วประสบความสำเร็จด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว รวมทั้งนิยมเรียกผู้ที่นับถือและผู้ให้พรว่า “เทพ” ซึ่งเมื่อบอกเล่าจากปากสู่ปาก คำว่าองค์เทพทันใจจึงติดปากและถนัดเรียกแทนสรรพนามจริงคือ “นัตโบโบจี” ตามแบบคำเรียกของคนเมียนมาร์

“นัต” มาจากคำว่า “นาถะ” ในภาษาบาลีแปลว่า “ที่พึ่ง” แต่ในความหมายของชาวเมียนมาร์คือ“ผี”บ้างก็ว่า “นัต” เป็นผีบรรพบุรุษ บ้างก็ว่าเป็นลักษณะกึ่งผีกึ่งเทวดาคล้ายเทพารักษ์ ทำหน้าที่คอยดูแลคุ้มครองสถานที่ที่ตนเมื่อครั้งยังมีชีวิตมีความสัมพันธ์อยู่ โดยอาจจะมีศาลที่มีลักษณะคล้ายศาลเพียงตาตั้งบูชาอยู่ในสถานที่นั้นๆ บ้างก็ว่า “นัต” เป็นเพียงวิญญาณทั่วไปที่สิงสถิตอยู่ตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ หรือภูเขา

เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่านไป จึงมีความเชื่อว่า “นัต” มีตัวตนและเริ่มผูกพันเข้ากับการตายของชาวเมียนมาร์ จนกลายเป็นความเชื่อในปัจจุบัน โดย“นัต”ที่ชาวพม่านับถือดั้งเดิมมี 36 ตน นำโดยหัวหน้านัตชื่อ “มีงมหาคีรีนัต”

ทั้งนี้ ตำนานของ“นัต”เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยของพระเจ้าอโนรธามังช่อ แห่งราชวงศ์พุกาม นำศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจากอาณาจักรมอญเข้าสู่ดินแดนพม่า ในพุทธศตวรรษที่ 18 ความเชื่อเรื่อง “นัต” ถูกผสมผสานเข้ากับศาสนาพุทธ โดยยกเลิกการบูชา “นัต” ตามแบบพื้นบ้าน แต่ถูกยกระดับให้เป็น “นัตหลวง” หรือ “นัตระดับประเทศ”

พระเจ้าอโนรธามังช่อ ได้ทำการตั้งศาลนัตหลวงขึ้นที่เขาโปปา หรือเรียกว่า “มหาคีรีนัต” ใกล้กับเมืองพุกาม มีทั้งหมด 37 องค์ โดยองค์สำคัญคือ นัตตัจจาเมง (หรือ นัตสักรา หรือ พระอินทร์), นัตพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้, นัตโยนบะเยง (นัตพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์) เป็นต้น

p138-141_3

ทุกวันนี้แม้เมียนมาร์จะเป็นประเทศที่ผู้คนมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก แต่ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาภูตผีวิญญาณยังคงอยู่ควบคู่ในวิถีชีวิตของชาวพม่าอย่างแยกไม่ออก ดังนั้น “นัต” หรือวิญญาณเทพผู้คุ้มครอง ยังคงเป็นที่เคารพนับถือสืบเนื่องต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ใครจะถูกจัดเป็น “นัต” เป็นที่น่าสังเกตว่า สมัยมีชีวิตอยู่จะเป็นคนที่เคยสร้างความดี หรือมีวีรกรรมน่าประทับใจ แต่กลับต้องมาตายลงด้วยเหตุร้ายแรงที่เรียกว่า“ตายโหง” ทำให้วิญญาณยังมีความห่วงใยในภาระหน้าที่ และยังคงผูกพันกับผู้คนเบื้องหลัง ทำให้ไม่อาจไปเกิดใหม่ได้ จึงกลายเป็นนัตที่มาคอยคุ้มครองรักษาบ้านเมือง หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระเจดีย์องค์สำคัญ

สำหรับ “นัต” ที่โด่งดังเป็นรู้จักกันดีในหมู่คนไทย คือ “นัตโบโบจี” หรือที่คนไทยเรียกติดปากง่ายๆ ว่า “เทพทันใจ” เนื่องด้วยมีตำนานเล่าขานต่อๆ กันมาว่า ท่านสามารถดลบันดาลโชคลาภให้ตามที่เข้าไปขอพร หรือได้ผลสำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้นหรือรวดเร็วทันใจนั่นเอง ทำให้เป็นที่มาของชื่อ แต่จะจริงเท็จมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล

ปัจจุบัน “นัตโบโบจี” ในประเทศเมียนมาร์มีมากถึง 5 องค์ ได้แก่
– องค์ที่ 1 ตั้งอยู่ที่ “พระธาตุอินแขวน” เมืองไจ้ก์โถ่ อำเภอสะเทิม เขตรัฐมอญของประเทศเมียนมาร์ บนยอดเขา Paung Laung
– องค์ที่ 2 ตั้งอยู่ที่ “เจดีย์สุเหล่” ใจกลางกรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นศาสนสถานหลักใจกลางกรุงย่างกุ้งมานานหลายร้อยปี
– องค์ที่ 3 ตั้งอยู่ที่ “เจดีย์กลางน้ำเยเลพญา” เมืองสิเรียม ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ตรงจุดบรรจบของแม่น้ำหงสาและแม่น้ำย่างกุ้ง
– องค์ที่ 4 ตั้งอยู่ที่ “เจดีย์ชเวดากอง” ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเชียงกุตระ เมืองย่างกุ้ง
– องค์ที่ 5 ตั้งอยู่ที่ “วัดโบตาทาวน์” ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำย่างกุ้ง ซึ่งองค์เทพทันใจ ณ ที่แห่งนี้นี่เองที่เป็นเลื่องชื่อและเป็นยอดนิยมของคนไทย โดยทุกกรุ๊พทัวร์และนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปด้วยตัวเอง จะเลือกไปเซ่นไหว้เทพทันใจองค์นี้ และผู้คนหลั่งไหลไปไหว้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน จนประหนึ่งว่า มีเทพทันใจองค์เดียวหรือศักดิ์สิทธิ์องค์เดียวประมาณนั้น

p138-141_4

การสักการะบูชา “นัตโบโบจี” นิยมใช้มะพร้าว กล้วยนากสีแดง เป็นเครื่องบูชาเพราะเชื่อว่าเป็นผลไม้มงคล และเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามของชีวิต บางครั้งก็จะประกอบด้วยช่อใบไม้ที่เรียกว่า ใบชัยชนะ และฉัตรตุงหรือธงกระดาษขนาดเล็ก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมงคลอีกเช่นกัน

หลังจากถวายเครื่องบูชาแล้ว ให้นำธนบัตรไปถวายด้วยการม้วนเสียบไว้ที่มือของท่าน ซึ่งอยู่ในกิริยายืนชี้นิ้วไปข้างหน้า อยากจะถวายเท่าใดก็แล้วแต่ศรัทธา แต่ต้องให้มีจำนวนธนบัตรมากกว่า 1 ฉบับ หลังจากนั้นก็เข้าไปยืนให้หน้าผากของผู้ที่ขอพรติดกับนิ้วมือของท่าน แล้วจึงตั้งจิตอธิษฐานขอพร โดยเทคนิคการขอพร มีเคล็ดลับว่า ต้องขอเพียงข้อเดียวเท่านั้น นัยว่าเพื่อให้พลังกล้าแข็งในการดลบนดาลมุ่งสู่สิ่งเดียว

เสร็จแล้วจึงดึงธนบัตรที่ม้วนถวายไว้คืนกลับมา 1 ฉบับ เพื่อนำกลับไปเป็นเงินขวัญถุง ให้มีโชคมีลาภต่อไป นอกจากนี้ ผู้ดูแลศาลยังอาจจะให้นำกล้วยสุกที่นำมาถวาย เอากลับไปกินเพื่อความเป็นศิริมงคลอีกด้วย

ใครที่มีโอกาสไปเยือนประเทศเมียนมาร์ แล้วได้สักการะขอพร “เทพทันใจ”หรือ“นัตโบโบจี” เมื่อครบกำหนดเวลาในสิ่งที่ขอแล้วได้ผลประการใด มาบอกเล่าสู่กันฟังก็ได้นะครับ