โฆษณาดิจิตอลโตสวนกระแส ไลฟ์สไตล์รับสารคนรุ่นใหม่
Facebook Google Youtube นำทีมรับทรัพย์
จากปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาของไทยมีอัตราการเติบโตชะลอตัวไปด้วย โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมโฆษณาของไทยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.27 แสนล้านบาทเท่านั้น โดยไม่มีอัตราการเติบโต เมื่อเทียบกับปี 2557 เนื่องจากเจ้าของสินค้าหันมาระมัดระวังการใช้จ่ายงบประมาณในการซื้อสื่อโฆษณา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2558 ที่ผ่านมาจะอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่ในส่วนของโฆษณาดิจิตอล ถือว่ามีอัตราการเติบโตเป็นที่น่าพอใจ โดยอัตราการเติบโตของโฆษณาดิจิตอลในปี 2558 มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 32 % หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 8,084 ล้านบาท แม้ว่ามูลค่าจริงที่ได้จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่เคยคาดการณ์ไว้ว่า ภาพรวมโฆษณาดิจิตอลในปี 2558 จะมีมูลค่าทะลุ 1 หมื่นล้านบาทก็ตาม
ล่าสุดสมาคมโฆษณาดิจิทัล(ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัท ทีเอ็นเอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยชั้นนำ ได้ออกมาเปิดเผยผลสำรวจมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิตอลของปี 2558-2559 จากผลการสำรวจพบว่า งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิตอลของปี 2558 มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 8,084 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 32 % และในปี 2559 นี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 23 % เนื่องจากสื่อดิจิตอล ยังคงได้รับความนิยมจากลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผลสำรวจจาก 23 เอเยนซี่ดิจิตอลชั้นนำของเมืองไทย ระบุว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้งบโฆษณากับสื่อดิจิตอลมากที่สุดในปี 2558
- อันดับ 1 ยังคงเป็นกลุ่มสื่อสารมีการใช้งบผ่านสื่อโฆษณาดิจิตอลประมาณ 974 ล้านบาท
- อันดับ 2 เป็นของกลุ่มยานยนต์มีการใช้งบประมาณ 918 ล้านบาท
- อันดับ 3 เป็นของกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวใช้งบประมาณ 595 ล้านบาท
- อันดับ 4 เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมใช้งบประมาณ 567 ล้านบาท
- อันดับ 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม 513ล้านบาท
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิตอลเพิ่มในมูลค่าสูงสุดเทียบจากปี 2557 คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ซึ่งใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 400 ล้านบาท
คุณนรสิทธ์ สิทธิเวชวิจิตร กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล(ประเทศไทย) กล่าวว่า สัดส่วนการใช้งบโฆษณาในปลายปี 2558 ยังคงมีการใช้เพิ่มขึ้น โดยในกลุ่มธุรกิจสื่อสารยังเป็นกลุ่มที่มีการใช้งบโฆษณาดิจิตอลสูงสุด แม้ว่าช่วงไตรมาส 4 จะมีการชะลอการใช้งบโฆษณาไปบ้าง เนื่องจากเป็นช่วงของการประมูลคลื่นความถี่ แต่หลังจากการประมูลคลื่นความถี่จบลง งบที่ถูกเลื่อนมาจากช่วงไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ได้ไหลกลับเข้าสู่อุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2559 นี้ โดยขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณของการใช้งบดังกล่าวแล้ว
จากแนวโน้มที่ดีดังกล่าว คาดว่ากลุ่มสื่อสารจะยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการใช้งบผ่านสื่อโฆษณาดิจิตอลมากสุดในปี 2559 นี้ ซึ่งช่องทางของการโฆษณาที่ใช้ จะยังเป็นสื่อโซเชี่ยลมีเดียอย่าง Facebook และ Google ที่ยังคงเป็นสื่อที่กลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจสื่อสารเลือกใช้ เนื่องจากสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มีประสิทธิภาพและตรงจุด นอกจากนี้ ยังสามารถวัดผลการตอบรับได้ทันที ซึ่งจากความนิยมของ 2 สื่อดังกล่าว ทำให้ LINE และเว็บไซต์ชั้นนำของไทยอย่าง Sanook และ Mthai ต่างออกมาปรับตัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
อย่างไรก็ดี จากความนิยมการใช้ Facebook เป็นสื่อกลางในการโฆษณาสินค้า เพื่อส่งตรงไปถึงผู้บริโภค ส่งผลให้ปัจจุบัน Facebook ยังคงครองส่วนแบ่งงบโฆษณาดิจิตอลสูงสุดในปี 2558 ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ประมาณ 24 % ของยอดการใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้ปี 2558 ที่ผ่านมาสื่อดังกล่าวมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดที่ 95 % จากปี 2557 โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวเป็นกลุ่มที่มียอดการใช้จ่ายผ่านช่องทาง Facebook เพิ่มขึ้นสูงสุดจากปี 2557
ส่วนรูปแบบของสื่อโฆษณาที่มีสัดส่วนยอดใช้จ่ายรองลงมาคือ Display มีส่วนแบ่งการใช้งบอยู่ที่ประมาณ 21 % ตามติดด้วย YouTube มีส่วนแบ่งการตลาดที่ประมาณ 20 % โดยในส่วนของ YouTube มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2557 สูงถึง 87 % เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันนิยมรับสื่อโฆษณาในรูปแบบวีดีโอมากขึ้น
คุณนรสิทธ์ กล่าวว่า แนวโน้มการใช้สื่อดิจิตอลที่เกิดขึ้นดังกล่าวคาดการณ์ว่า เม็ดเงินโฆษณาดิจิตอลในปี 2559 จะปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2558 ประมาณ 23 % หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,927 ล้านบาท แต่ถ้าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ภาพรวมโฆษณาดิจิตอลในสิ้นปีนี้อาจมีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท
ซึ่งกลุ่มสินค้าหลักที่จะผลักดันให้โฆษณาดิจิตอลก้าวไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ยังคงเป็นกลุ่มสื่อสาร โดยใน 2559 นี้คาดการณ์ว่า อาจจะออกมาใช้งบโฆษณาประมาณ 1,304 ล้านบาท กลุ่มยานยนต์ 1,228 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว 691 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม 653 ล้านบาท และกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม 592 ล้านบาท
คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล(ประเทศไทย) กล่าวว่า ความนิยมในการบริโภคสื่อดิจิตอลของคนไทยสูงขึ้นมาก หลังจากที่ผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้ผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้ผู้บริโภคสามารถดูข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อในรูปแบบวิดีโอ ซึ่งเป็นรูปแบบเนื้อหาที่คนไทยชอบ โดยปัจจุบันผู้บริโภคสามารถรับชมวีดีโอได้อย่างไม่สะดุด ทุกที่ ทุกเวลา ส่งผลให้นักการตลาดใช้สื่อดิจิตอลเป็นช่องทางในการสื่อสารโฆษณาในรูปแบบของวิดีโอนี้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับกลุ่มสินค้าที่หันมานิยมใช้สื่อวีดีโอในการสื่อสารไปยังผู้บริโภคคือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค จากในอดีตกลุ่มสินค้าดังกล่าวจะใช้จ่ายเงินโฆษณาไปกับสื่อหลักอย่างทีวีเป็นส่วนมาก แต่หลังจากอินเตอร์เน็ตของไทยมีการพัฒนาความเร็วเป็น 3G และ 4G ขณะเดียวกัน สมาร์ทโฟนก็มีราคาขายที่ถูกลง จึงทำให้ปี 2558 ที่ผ่านมาเจ้าของสินค้ามีการใช้งบไปกับสื่อโฆษณาดิจิตอลในรูปแบบวีดีโอมากขึ้น และคาดว่าจะได้รับความนิยมต่อเนื่องมาจนถึงปี 2559 นี้
คุณศิวัตร กล่าวต่อว่า กลุ่มสินค้าที่น่าจับตามองในปีนี้คือ การประกันภัย เนื่องจากสามารถหวังผลยอดขายได้จากการใช้สื่อโฆษณาดิจิตอล เช่นเดียวกับกลุ่มสถาบันการเงินและกลุ่มค้าปลีกที่เริ่มหันมาใช้สื่อดิจิตอลทำการตลาดมากขึ้น เนื่องจากสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด ขณะเดียวกัน ยังสามารถทำการขายสินค้าได้ในทันทีที่มีการใช้สื่อโฆษณาดิจิตอล ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกเริ่มปรับตัวหันมาขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
นอกจากนี้ กลุ่มหน่วยงานภาครัฐก็เป็นอีกกลุ่มที่น่าจับตามอง เนื่องจากปีที่ผ่านมามีการใช้งบโฆษณาดิจิตอลเติบโตมากถึง 992 % ส่วนอีกหนึ่งกลุ่มที่เริ่มมีการใช้งบผ่านสื่อดิจิตอลมากขึ้นคือ กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยในปีที่ผ่านมามีการใช้งบโฆษณาเติบโตมากถึง 513 % ตามด้วยสถาบันการเงินใช้งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลเติบโต 322%
ด้านคุณอาภาภัทร บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจโฆษณา บริษัท ทีเอ็นเอส ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ผลสำรวจเม็ดเงินโฆษณาดิจิตอลในปีนี้ ได้จัดทำขึ้นในมิติที่หลากหลายและแตกต่างไปจากปีที่ผ่านมา โดยในส่วนของปีนี้ได้มีการทำวิจัยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพควบคู่กัน เพื่อให้สามารถสะท้อนภาพเชิงลึกได้ดียิ่งขึ้น เช่น การลงรายละเอียดในข้อมูลเกี่ยวกับโซเชี่ยลมีเดีย แพลตฟอร์ม อย่าง Facebook, Instagram, YouTube และ Twitter โดยเฉพาะ หรือข้อมูลเฉพาะในลักษณะของรูปแบบการซื้อแบบ Direct, Ad Network หรือ Programmatic เป็นต้น
หลังจากออกมาใช้กลยุทธ์ดังกล่าวในการทำวิจัย บริษัท ทีเอ็นเอส ประเทศไทย จำกัด เชื่อว่าผลสำรวจในเชิงปริมาณที่ได้จะมีความแม่นยำ ถูกต้อง และรวดเร็วมากขึ้น นอกเหนือจากเครื่องมือดังกล่าว การสำรวจในครั้งนี้ บริษัท ทีเอ็นเอสฯ ได้ดำเนินการจัด Workshop ให้ผู้ประกอบการธุรกิจโฆษณาดิจิตอล ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำความเข้าใจวิธีการเข้าร่วมการสำรวจผ่านระบบดิจิตอล ซึ่งเป็นระบบที่สามารถรักษาความลับของข้อมูลในระดับสูงสุด
ขณะเดียวกัน ยังมีระบบการตรวจทานข้อมูล (Information Verification System) ก่อนส่งแบบสำรวจ ทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องมากขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา โดยเล็งเห็นว่าข้อมูลงบประมาณและการใช้จ่ายด้านสื่อต่างๆ เป็นข้อมูลที่สำคัญต่อนักการตลาดและนักโฆษณาประชาสัมพันธ์ ในการตัดสินใจทางธุรกิจ