“ดานัง” แหล่งลงทุนศักยภาพสูงในเวียดนาม

p92-97_3

“ดานัง” สุดยอดศักยภาพแหล่งลงทุนในเวียดนาม

หากนึกถึงพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการลงทุนของเวียดนาม นอกเหนือจากกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์แล้ว จังหวัดดานัง (Da Nang) เป็นอีกหนึ่งเมืองเศรษฐกิจสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุนมากที่สุดในขณะนี้ สะท้อนได้จากผลสำรวจ Provincial Competitiveness Index (PCI) ปี 2558 ซึ่งจัดทำโดย Vietnam Chamber of Commerce and Industry (VCCI) ร่วมกับ US Agency for International Development (USAID) ระบุว่า จังหวัดดานังเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ของเวียดนาม

จากการสำรวจทั้งหมด 63 จังหวัด “ดานัง”สามารถครองตำแหน่งดังกล่าวติดต่อกันได้เป็นปีที่ 3 และเป็นครั้งที่ 6 นับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำผลสำรวจ PCI เมื่อปี 2549 ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวพิจารณาจากการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจของแต่ละจังหวัด จังหวัดดานังจึงเป็นอีกหนึ่งแหล่งลงทุนในเวียดนามที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม

p92-97_2

ศักยภาพของจังหวัดดานัง
ศูนย์กลางการขนส่งและการท่องเที่ยว

จังหวัดดานังตั้งอยู่บริเวณภาคกลาง ห่างจากกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม 764 กิโลเมตร และห่างจากนครโฮจิมินห์ 964 กิโลเมตร ด้วยศักยภาพด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของพื้นที่ภาคกลางของประเทศ และเป็นที่ตั้งของท่าเรือดานัง (Da Nang Port) ซึ่งเป็นท่าเรือหลักเพียงแห่งเดียวในบริเวณนั้น รวมทั้งมีเส้นทางการบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศรองรับ จึงเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค และมีทางหลวงหมายเลข 1A (National Road 1A) เชื่อมโยงการเดินทางไปยังภาคเหนือและภาคใต้

นักท่องเที่ยวสามารถใช้เส้นทางถนนดังกล่าวเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยว 4 แห่งของเวียดนามที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO ได้แก่ โบราณสถานเมืองเว้ เมืองโบราณฮอยอัน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ My Son และอุทยานแห่งชาติ Phong Nha Ke Bang และจังหวัดดานังยังเป็นทางออกสู่ทะเลจีนใต้ของเส้นทาง East-West Economic Corridor (EWEC) ซึ่งเชื่อมโยง 13 จังหวัดของ 4 ประเทศ (เมียนมาร์ ไทย สปป.ลาว และเวียดนาม) จึงนับเป็นประตูการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค

p92-97_4

นอกจากนี้ จังหวัดดานังยังมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคกลางของเวียดนาม สะท้อนได้จากเศรษฐกิจของจังหวัดดานังปี 2558 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.8 และมีแนวโน้มขยายตัวกว่าร้อยละ 10 ในปี 2559 ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของจังหวัดดานังในปี 2558 อยู่ที่ 2,908 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่ารายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของประเทศที่ราว 2,200 ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่แผนแม่บทพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดดานัง (The Master Plan of Socio-Economic Development of Da Nang) ตั้งเป้าเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีเป็น 4,500-5,000 ดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563 สะท้อนกำลังซื้อของประชาชนในพื้นที่ที่สูงขึ้น นอกจากนี้ จังหวัดดานังยังวางยุทธ์ศาสตร์ในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยวทดแทนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของเวียดนามที่ตั้งเป้าก้าวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัยภายในปี 2563

p92-97_5

โครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดดานัง
พร้อมรองรับการลงทุน

โครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดดานังได้รับการพัฒนาอย่างมาก เพื่อรองรับการลงทุน ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจเข้ามาเริ่มต้นดำเนินธุรกิจที่นี่ ปัจจุบันจังหวัดดานังมีโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหลายโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการก่อสร้างทางด่วนเชื่อมจังหวัดดานังกับจังหวัด Quang Ngai ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงกลั่นน้ำมัน Dung Quat โรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของเวียดนามระยะทาง 139 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560 และโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ของสนามบินดานังคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 2-4 บ้านคนต่อปี จากปัจจุบันที่ 6 ล้านคนต่อปี

p92-97_6

นิคมอุตสาหกรรมดานัง

นอกจากนี้ จังหวัดดานังยังมีนิคมอุตสาหกรรมสำหรับรองรับการลงทุนทั่วไปจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ Da Nang Seafood Service Zone, Da Nang Industrial Zone, Lien Chieu Industrial Zone, Hoa Cam Industrial Zone และ Expanded Hoa Khanh Industrial Zone และยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่รองรับการลงทุนเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ Software Park, IT Park และ Hi-Tech Park อีกทั้งยังอยู่ระหว่างวางแผนก่อสร้าง Software Park และ IT Park แห่งที่ 2

ทั้งนี้ ในบรรดานิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด Da Nang Hi-Tech Park (DHTP) ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคแห่งที่ 3 ของเวียดนามได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด และสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ได้มากขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่รัฐบาลเวียดนามาตั้งเป้าให้นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ เป็นแหล่งลงทุนของทั้งนักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจังหวัดดานังและจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศ

จากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 จังหวัดดานังดึงดูด FDI ทั้งหมด 341 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 3,45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ มีสัดส่วนร้อยละ 53 ของมูลค่า FDI ทั้งหมด รองลงมา คือ อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป (ร้อยละ 34) อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามูลค่าการลงทุนของไทยในจังหวัดดานังยังไม่มากนัก โดยปัจจุบันมีโครงการลงทุนเพียง 2 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมราว 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่ด้วยศักยภาพในด้านต่างๆ ที่กล่าวมา จังหวัดดานังจึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพในเวียดนาม ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกแหล่งลงทุน

ทั้งนี้ ล่าสุดจังหวัดดานังได้รับเลือกจากรัฐบาลเวียดนามในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม APEC2017 ให้เป็นสถานที่จัดการประชุมดังกล่าวในเดือนตุลาคม 2560 ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของจังหวัดดานัง