เปิดใจ ‘คุณณรงค์ศักดิ์’บุกตลาดเมียนมาร์

p38-43_2

เปิดใจ ‘ณรงค์ศักดิ์ มีวาสนาสุข’
บุกตลาด ‘เมียนมาร์’ สร้างโอกาสธุรกิจการพิมพ์

ทำธุรกิจการพิมพ์อย่างไรดีในประเทศเมียนมาร์? คำถามยอดฮิตที่นักธุรกิจและผู้สนใจแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ กำลังค้นหาคำตอบ เนื่องด้วยเป็นประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนที่เริ่มเปิดประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ โดยยังมีช่องว่างให้เข้าไปทำธุรกิจอีกมากมาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นคนไทยเล็งที่นั่นเป็นเป้าหมาย เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่

วารสาร Thaiprint magazine จึงถือโอกาสสัมภาษณ์เปิดใจ คุณณรงค์ศักดิ์ มีวาสนาสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุนทรฟิล์ม จำกัด หนึ่งในคนไทยผู้บุกเบิกธุรกิจการพิมพ์ในประเทศเมียนมาร์ เพื่อค้นหาตอบ และนำเสนอเป็นกรณีศึกษาของการเปิดตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) รวมทั้งเป็นข้อคิดสำหรับผู้ที่กำลังจะเข้าไป “ขุดทอง” ยังประเทศแห่งนี้

คุณณรงค์ศักดิ์ ประเดิมด้วยมุมมองว่า เหตุผลที่สนใจไปลงทุนในประเทศเมียนมาร์ เพราะเห็นเป็นประเทศเปิดใหม่ที่มีประชากรมากถึง 60 ล้านคน และมีศักยภาพการทำตลาดโรงพิมพ์และธุรกิจอื่นๆ อีกมาก จึงสนใจเข้าไปลงทุนทำธุรกิจตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะสร้างโอกาสและความสัมพันธ์ทางธุรกิจก่อนใคร

“ย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานที่เมียนมาร์ ทำให้ได้รู้จักผู้ประกอบธุรกิจหลากหลายที่นั่น จากนั้นมีการพูดคุยต่อเนื่องกันเรื่อยมา จนในที่สุดได้ตัดสินใจจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อร่วมทำธุรกิจการพิมพ์ด้วยกัน”

p38-43_3

“พอได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในสมาคมการพิมพ์เมียนมาร์ แล้วก็ได้หุ้นส่วนท้องถิ่นที่ดีและแข็งแกร่งก็เลยตัดสินใจที่จะเข้าไปทำธุรกิจการพิมพ์ ซึ่งการทำธุรกิจในเมียนมาร์นั้น สิ่งที่สำคัญคือเรื่องหุ้นส่วน เพราะบางอย่างเราไม่สามารถเข้าไปลงทุนด้วยตัวเองได้ ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย เช่น การเปิดเทรดดิ้ง เราไม่สามารถเปิดได้โดยตรงต้องอาศัยตัวแทน หรือการซื้อที่ดินซื้อโรงงานก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราได้หุ้นส่วน การตัดสินใจลงทุนต่างๆ จึงเริ่มต้นขึ้น” คุณณรงค์ศักดิ์ กล่าว

การเข้าไปลงทุนครั้งแรกเป็นการจับมือกับ “กลุ่มเอ็นเคเทรดดิ้ง” ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งยักษ์ใหญ่ของประเทศเมียนมาร์ มีบริษัทในเครือ 50-60 บริษัท แต่ยังไม่มีธุรกิจการพิมพ์ จึงเป็นพันธมิตรร่วมธุรกิจตั้งบริษัทใหม่ชื่อ “กราฟฟิคโซลูชั่น” มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายการลงทุนต่างชาติของเมียนมาร์ (Foreign Investment Law) ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 20 ล้านบาท เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายนักธุรกิจและนักลงทุนไทยที่อยู่ในเมียนมาร์ ให้บริการพิมพ์ป้ายโฆษณา บิลบอร์ด ฯลฯ ซึ่งปรากฏว่า กระแสตอบรับดี มีกลุ่มเป้าหมายตามที่วางไว้มาเป็นลูกค้า 80% ที่เหลือเป็นลูกค้าคนท้องถิ่น

p38-43_4

“กลุ่มเอ็นเคเทรดดิ้ง เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ที่มาจากประเทศไทย เรามาร่วมธุรกิจกันเพราะเขาก็หวังว่า เราจะเข้าไปทำป้ายโฆษณาให้กลุ่มบริษัทของเขาด้วย ก็เลยหุ้นกันทำธุรกิจด้วยกัน แต่ทั้งหมดที่เราทำต้องเน้นต้นทุนต่ำหมดเลย เพราะกำลังซื้อในเมียนมาร์เน้นสินค้าราคาถูก เราจึงซื้อเอาเครื่องมือสองไปลงเป็นส่วนใหญ่ เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันด้านราคาในพื้นที่ได้” คุณณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ด้วยความที่ประเทศเมียนมาร์มีผู้ประกอบการพิมพ์ทุกอย่าง ค่อนข้างใกล้เคียงกับประเทศไทยอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ขาดคือ “ทำงานได้ตรงเวลา” และ “ผลงานคุณภาพ” ดังนั้น แนวทางทำธุรกิจจึงเป็นลักษณะดึงจุดอ่อนที่เห็นมาสร้างเป็นจุดแข็งเพื่อชูความแตกต่างจากคู่แข่งในท้องตลาด ได้แก่ 1.ควบคุมต้นทุนด้วยการนำเข้าเครื่องมือสองมาดำเนินงาน 2. ส่งชิ้นงานได้ตรงตามเวลาที่กำหนด 3.รักษามาตรฐานคุณภาพของชิ้นงาน และ 4.ราคาใกล้เคียงกับราคาทั่วไปในตลาด ซึ่งราคาขายพื้นฐานที่นั่นต่ำกว่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับราคาตลาดของเมืองไทย

p38-43_5

หลังจากเข้าไปลงทุนในบริษัท กราฟฟิคโซลูชั่น จำกัด และดูแลบริหารจัดการจนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ด้วยความที่เป็นคนไม่หยุดนิ่ง ชอบคิด ชอบทำ ชอบพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง จึงขยับขยายการลงทุนเพิ่มเป็นบริษัทที่ 2 โดยยังคงอาศัยหลักการเดิม คือ จับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการท้องถิ่น แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ดำเนินการโดยตัวแทนล้วนๆ

“ตอนนี้ผมเปิดบริษัทที่ 2 ขึ้นมาอีก โดยร่วมกับหุ้นส่วนท้องถิ่น ทำธุรกิจการพิมพ์ระบบดิจิตอล ทำงานพวกช็อตรันและออนดีมานด์ ส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นนักธุรกิจไทยที่ไปบุกตลาดในพม่า แล้วก็มีเรื่องการพิมพ์ผ้า พิมพ์สายคล้องคอต่างๆ มีการพิมพ์ถุงหิ้วและถุงกระดาษสำหรับห้างสรรพสินค้า ฯลฯ แต่ทั้งหมดที่ทำต้องเน้นต้นทุนต่ำหมดเลย เพราะกำลังซื้อในเมียนมาร์เน้นสินค้าราคาถูก ผมจึงต้องซื้อเอาเครื่องพิมพ์เครื่องจักรมือ 2 จากญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมัน ฯลฯ ไปใช้เป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้สามารถแข่งขันราคาในพื้นที่ได้”

“บริษัทที่ 2 นี้เราเป็นเทรดดิ้งด้วย ส่งสินค้าหลายอย่างจากไทยเข้าไปขาย มีการนำเอากระดาษส่งทางบกด้วยรถยนต์เข้าทางอำเภอแม่สอด ผ่านเมียวดีวิ่งไปถึงย่างกุ้ง เป็นการขายกรณีลูกค้าต้องการกระดาษเร่งด่วน เช่น รัฐบาลต้องการพิมพ์หนังสือราชการหรือแบบเรียน แล้วปรากฏว่า บางช่วงบางจังหวะกระดาษขาดสต็อก ก็สามารถจัดการส่งกระดาษไปให้ทันทีได้เลย เราเป็นเทรดดิ้งกินส่วนต่าง ด้วยความเป็นเทรดดิ้ง เราเลยทำได้หลายอย่าง ขายอะไหล่และแบตเตอรี่รถยนต์ด้วย” คุณณรงค์ศักดิ์ กล่าว

p38-43_6

ทั้งนี้ คุณณรงค์ศักดิ์ บอกว่า แม้การทำตลาดดูจะยุ่งยาก แต่ถ้าหุ้นส่วนคนท้องถิ่นดีและเข้มแข็ง มีการบริหารจัดการด้านแบ่งส่วนต่างกันที่ลงตัว การดำเนินธุรกิจก็จะราบรื่น ส่วนใหญ่นักธุรกิจเมียนมาร์ไม่นิยมลงทุนด้านการเงิน แต่จะถนัดการเอื้ออำนวยความสะดวกทางด้านการจดทะเบียนบริษัท ดูแลประสานงานบุคลากร ตลอดจนการจัดการภาษีและระบบต่างๆ ดังนั้น นักธุรกิจไทยที่จะเข้าไปลงทุนก็คงต้องเน้นเรื่องการลงทุนเม็ดเงินเป็นหลัก ขณะที่เรื่องโนฮาวและการตลาดก็สามารถช่วยคิดช่วยทำกันได้

“บริษัทนี้ผมลงทุนเยอะกว่าบริษัทแรก เพิ่งเปิดได้ปีกว่าๆ ลงทุนไปแล้วประมาณ 50 ล้านขึ้นไป ความแตกต่างจากบริษัทแรก เช่น บริษัทนี้ใช้เครื่องพิมพ์ระบบดิจิตอลมือหนึ่ง แต่อุปกรณ์หลังการพิมพ์ยังใช้มือสองเหมือนเดิม บริษัทนี้เราไม่ได้จดทะเบียนแต่ใช้ตัวแทนในการขับเคลื่อนธุรกิจ ถามว่าไม่ห่วงเรื่องการเงินหรือ? ไม่นะ..เพราะในเมียนมาร์มีการแลกเปลี่ยนเงินตรา(Swap)และโอนถ่ายเงินเข้าออกได้ง่าย เนื่องจากมีคนที่ต้องการเงินบาทหรือบางคนต้องการขายเงินจ๊าดอยู่ตลอดเวลา โอนเข้าบัญชีกันเลย บริษัทที่รับแลกเปลี่ยนก็คิดส่วนต่าง โบรกเกอร์ที่เปิดตามชายแดนมีทั้งแม่สอด แม่สาย ย่างกุ้ง ฯลฯ ทำได้ง่ายมากไม่ต้องผ่านระบบธนาคาร มีกรณีเดียวที่ต้องทำแบบนั้นคือเมื่อลงทุนตามกฎหมายการลงทุนของเมียนมาร์ แต่ถ้าทำธุรกิจแบบตัวแทนสามารถใช้วิธีสวอปเงินกับเอกชนได้เลย”

ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่เข้าไปสร้างโอกาสและการลงทุนในเมียนมาร์ คุณณรงค์ศักดิ์ มองว่า ผู้ประกอบการโรงพิมพ์คนไทยไม่ค่อยมีปัญหาด้านการแข่งขันกับคนท้องถิ่น เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทคนไทยที่ทำธุรกิจที่นั่น มีตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงใหญ่ รวมทั้งธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย อีกทั้งที่นั่นมีสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมาร์ที่เข้มแข็ง มีการช่วยเหลือระหว่างพ่อค้านักธุรกิจไทยด้วยกันเป็นอย่างดีเยี่ยม เช่นเดียวกับกลุ่มคนญี่ปุ่นและสิงคโปร์ในเมียนมาร์

p38-43_7

“ผมเข้าไปสี่ปีครึ่งแล้วในเมียนมาร์ ถือว่าพอไปได้ แม้ว่าจะเทียบกับเมืองไทยแล้วที่ไทยดีกว่า เพราะเราทำมานานแล้ว ตอนนี้บริษัทแรกโอเคแล้ว บริษัทที่สองผ่านมาปีกว่ายังไม่เรียบร้อย แต่ก็พอไปได้ ใช้เงินเยอะอยู่ในช่วงเซ็ตอัพปีกว่า แต่ทุกวันนี้รันงานได้แล้ว ผมไม่แย่งงานโรงพิมพ์ท้องถิ่นเลย เราทำให้คนไทยที่โรงพิมพ์เมียนมาร์เข้าไม่ถึง เพราะคนไทยเพิ่งเข้าไปทำธุรกิจมากในช่วง 2-3 ปีนี้เอง โรงพิมพ์เมียนมาร์เลยไม่ซีเรียสว่าเราเป็นคู่แข่ง อีกอย่างคนถือหุ้นในโรงพิมพ์ผมก็เป็นคนเมียนมาร์ด้วย”

อีกธุรกิจที่กำลังไปได้ดีมาก คือ การรับจ้างปะโมพิมพ์ เพราะในเมียนมาร์ยังไม่มีคนทำธุรกิจนี้ โดยได้ลงนามเซ็นสัญญาเป็นผู้รับซ่อมให้กับโรงพิมพ์ชเวนานา ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่มีเครื่องพิมพ์ 20-30 แถว เพื่อเข้าไปดูเครื่องจักรให้ตลอด 24 ชั่วโมง มีการส่งช่างไทยไปกินนอนที่นั่น 2 คนเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยตรง

กล่าวสำหรับทำเลที่ตั้งโรงพิมพ์ของคุณณรงค์ศักดิ์ ได้เลือกลงหลักปักฐานอยู่ทางตอนเหนือของกรุงย่างกุ้ง ห่างจากสนามบินประมาณ 20 กิโลเมตร สาเหตุที่เลือกบริเวณดังกล่าวเพราะเป็นศูนย์รวมรถไฟฟ้าระบบรางของเมียนมาร์ในอนาคต ส่งผลให้เส้นทางการคมนาคมขนส่งสะดวกอย่างแน่นอน แม้ในทุกวันนี้ ก็มีมอเตอร์เวย์จากดาวน์ทาวน์มุ่งตรงไปที่นั่นเลย อีกทั้งใกล้กับกรมการขนส่งใหญ่ จึงมั่นใจว่าจะเป็นย่านสำคัญในอนาคต

สำหรับนักธุรกิจหรือผู้สนใจเข้าไปลงทุนด้านการพิมพ์ในเมียนมาร์ คุณณรงค์ศักดิ์ มีมุมมองที่น่าสนใจทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ปัจจุบันเมียนมาร์ก้าวกระโดดเป็นดิจิตอลไซเนต (Digital Signet) กล่าวคือป้ายโฆษณาส่วนใหญ่เป็นจอแอลอีดี ขณะที่ในอนาคตบริเวณสี่แยกถนนหลักๆ กำลังจะเป็นจอแอลอีดีเช่นกัน ดังนั้น โอกาสที่จะเห็นบิลบอร์ดกลางแจ้งจึงลดน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากจอแอลอีดีในประเทศจีนราคาถูก ขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจคอมพิวเตอร์อย่างแอลจี,ซัมซุง ได้ยื่นข้อเสนอติดตั้งให้ฟรี แต่มีเงื่อนไขขอทำเลดีๆ เพื่อสามารถขายพื้นที่โฆษณาได้ ซึ่งถ้าทำรายได้แล้วมีกำไรก็จะนำมาแบ่งกันกับเจ้าของพื้นที่ด้วย ทำให้แนวโน้มการทำป้ายโฆษณาในเมียนมาร์เปลี่ยนไปไม่เหมือนวันวาน

ได้ยินได้ฟังอย่างนี้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับนักธุรกิจหรือผู้สนใจที่กำลังวางแผนจะขยายเข้าไปทำธุรกิจการพิมพ์ในเมียนมาร์ไม่มากก็น้อย!!