โดนัลด์ ทรัมป์ ภายใต้มุมมอง คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล

โดนัลด์ ทรัมป์ นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ภายใต้มุมมอง คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล

การเลือกตั้งประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 และปรากฏผลว่า “คุณโดนัลด์ ทรัมป์” ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ลำดับที่ 45 และจะเข้ารับตำแหน่งต่อจาก “คุณบารัค โอบาม่า” นั้น ก็มีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมทั่วโลกอย่างมาก

มีทั้งนักข่าวและผู้ประกอบการธุรกิจโรงพิมพ์โทรศัพท์เข้ามาถามว่า จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร และมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์หรือไม่ สิ่งที่ท่านเห็นคือ โลกนี้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่ละประเทศอยู่ไม่ไกลกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งย่อมส่งผลต่อประเทศหนึ่ง

ผมเรียนนะครับว่า ประเด็นแรก ภายใต้นโยบายคุณทรัมป์ ทางด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับเอเชียนั้น จะให้มีการยกเลิกข้อตกลงทีพีพี หรือข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) ซึ่งในภูมิภาคนี้ ประเทศที่เซ็นลงนามเป็นหุ้นส่วนไปแล้วคือสิงคโปร์และเวียดนาม คุณโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเลยว่าจะไม่ให้มีแล้ว ประเทศเราเป็นคู่แข่งสำคัญในเออีซี ดังนั้น การยกเลิกตรงนี้ อาจไม่ได้ทำให้เราเสียเปรียบมาก หรืออาจจะเสียเปรียบไปเลย เดี๋ยวเราลองมาวิเคราะห์กัน

ประเด็นที่ 2 คุณโดนัลด์ ทรัมป์ บอกเลยนะครับว่า สหรัฐอเมริกาในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา ดำเนินนโยบายต่างประเทศผิดพลาด เศรษฐกิจพลิกผัน จึงทำให้ทุกวันนี้เกิดคู่แข่งที่คิดไม่ถึงเลยคือประเทศจีน เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนเปิดประเทศใหม่ๆ จีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์มานาน มีประชากรพันกว่าล้านคน ต้องการเปิดประเทศแล้วค่อยๆ เปิด โดยได้ตั้งเป้าหมายตัวเองให้เป็นโรงงานของโลก ด้วยเหตุที่มีแรงงานจำนวนมาก ด้วยเหตุที่ดินมีจำนวนมาก ก็เริ่มเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ แรกๆ ก็มีเซินเจิ่น ติดกับฮ่องกง มีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามาก สหรัฐฯ เองดำเนินนโยบายผิดพลาด เพราะคิดว่าตัวเองมีเทคโนโลยีแล้ว จะสามารถควบคุมทุกอย่างได้ โดยใช้รูปแบบการบริหารที่มีและคิดว่าดีแล้ว

การย้ายโรงงานเข้าไปลงทุนในประเทศจีน ทำให้ได้แรงงานถูก ในช่วงแรกที่เข้าไปลงทุนทำให้ได้กำไร 2 ต่อ กำไรที่หนึ่งคือผลประกอบการดีเยี่ยม เพราะต้นทุนถูกกว่าเยอะมาก กำไรจึงมากขึ้น นักธุรกิจสหรัฐฯ เขาเก่งเวลาทำกำไรได้ 2 เด้ง บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ พอผลประกอบการกำไรดี ก็ได้สะท้อนไปที่ราคาหุ้น ฉะนั้นในช่วง 20-30 ปีมานี้ มีความสุขมากกับผลประกอบการที่ได้มา แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่สหรัฐฯ ป่วนมากๆ ก็คือ ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราการว่างงานถือว่ามากขึ้นๆ ลดดอกเบี้ยเท่าไรก็แก้ปัญหาไม่ได้ แต่ในวันนี้ประเทศจีนกลับมีความแข็งแกร่งจากการเป็นประเทศที่รับจ้างผลิต ในวันนี้มีสถานะทางเศรษฐกิจเป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น แล้วก็มีการคาดกันว่า ในอัตราการเติบโตแบบนี้ ประเทศจีนคงเป็นอันดับหนึ่งในไม่ช้า

นโยบายของคุณโดนัล ทรัมป์ คือ จะเอางานต่างๆ ที่ไปผลิตอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะที่ประเทศจีนกลับมาผลิตในประเทศ ผมเล่าให้ฟังแบบฟังมาอีกทีนะครับว่า ตอนก่อนที่ คุณสตีพ จ๊อบ จะเสียชีวิต ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ไปเยี่ยมถึง 2-3 ครั้ง ไปปรึกษากันว่า จะทำอย่างไรที่จะให้สหรัฐอเมริกาหยุดการเสียประโยชน์จากการไปจ้างจีนผลิต แม้ว่าการผลิตโทรศัพท์ไอโฟน จีนจะได้ค่าแรงแค่ 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเครื่อง จากที่ขายราคา 599-699 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเครื่อง

แต่ลองคิดดูว่า วันนี้จีนกลับกลายเป็นผลิตโทรศัพท์แบรนด์ชื่อจีนอย่างน้อย 2 แบรนด์ โดยมีรูปลักษณ์และเทคโนโลยีเหมือนกับไอโฟน และตอนนี้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญทั่วโลก แล้วตอนนี้สหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาทางสังคมมาก เพราะตกงานมาก นโยบายของทรัมป์ประกาศแล้วว่า จะดึงงานกลับมา ตรงนี้เป็นอีกอันที่จะทำให้โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอีก

แล้วก็เรื่องประเทศไทย 4.0 หรือ Industry 4.0 ประเทศที่เป็นต้นคิด ก็ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นประเทศเยอรมัน ซึ่งคิดขึ้นในปี 2003 หรือไม่ก็ปี 2007 เขามีไอเดียนี้ขึ้นมา เพราะต้องการเปลี่ยนกติกาใหม่ ในยุโรปทุกวันนี้ที่อ่อนแอ มีเยอรมันเท่านั้นที่เข้มแข็ง สามารถอุ้มทุกคนได้ แต่ตอนนี้อังกฤษก็ brexit ออกไปล่ะ ตัวใครตัวมัน เพราะปีหนึ่งๆ อังกฤษต้องใช้เงินลงขันปีละ 900,000 ล้านบาท วันนี้อังกฤษไม่เอาแล้ว

p70-73_04

ดังนั้น เยอรมันเขามองว่า ความเจริญต่อไปจะอยู่ในเอเชียหมด เพราะอะไร? เพราะแถบนี้ยังมีแรงงานเยอะ ค่าแรงงานถูก ประชาชนกำลังเริ่มร่ำรวย มีกำลังซื้อมากขึ้น ขณะที่ยุโรปและอเมริกาไม่มีทางแข่งได้ในเชิงค่าแรงครับ ดังนั้น ทางเดียวที่ต้องแก้เกมนี้ให้ได้ก็คือ การสร้างกติกาใหม่ขึ้นมา โดยใช้หลักการ ที่เรียกว่า Industry 4.0 ผมเรียนนะครับ ในที่นี้รวมทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นห่วงเรื่องนี้ เหมือนกันว่า ต่อไปทุกประเทศจะผลิตสินค้าด้วยเทรนด์ของโลกที่ต้องผลิตจำนวนมาก ทำตามออเดอร์ลูกค้ามากขึ้น ระบบขนส่งต้องควบคุมได้เอง สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะต้องเป็นไปแบบนั้น

กลับมาดู GDP ประเทศที่ประสบความสำเร็จ มีรายได้ต่อหัวของประชาชนต่อปีสูง ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ประเทศเหล่านั้น ล้วนเป็นประเทศที่เติบโตด้วยนวัตกรรมทั้งสิ้น ดังนั้น เรื่องกับดักรายได้ปานกลาง ประเทศเราไม่ได้เพิ่งติด แต่ติดเป็นสิบกว่าปีมาแล้ว เรายังก้าวข้ามผ่านไม่ได้ หนึ่งเลยนะครับ ประเทศเราไม่มีนวัตกรรม ไม่มีเรื่อง R&D มาก ขณะนี้รัฐบาลเฝ้าผลักดันให้ R&D มีให้ได้ภายในอีก 10 ปี ต้องให้ได้สัก 2 % ของจีดีพี แต่วันนี้มีแค่ 0.4 % เทียบกับสิงคโปร์ที่มี 1.8 % ของเราถือว่าน้อยมาก

คำถามต่อมาว่า ทำไมเราต้องปรับเปลี่ยนประเทศ เพราะประเทศของเราจีดีพีกว่า 70 % ขึ้นอยู่กับการส่งออก แล้ววันนี้ที่ประเทศไทยมีปัญหา เพราะเราเป็นฐานการส่งออก ขณะที่ทั้งโลกเศรษฐกิจกำลังลดลงและถดถอยอยู่ ตลาดหลักๆ ของเราลดลงไปเยอะ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น และแม้แต่ประเทศจีนเอง ซึ่งขณะนี้ประเทศจีนเอง ก็อยู่ในระหว่างปฏิรูปตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องคอร์รัปชั่น ในหลายปีนี้มาเขาไม่มุ่งด้านเศรษฐกิจเท่าไร ประเทศเหล่านี้พึ่งพาส่งออก เค้าซื้อน้อยลงมา แล้วมีแนวโน้มในอนาคตว่าเขาจะไปผลิตเอง แล้วค่าแรงของเราก็ไม่ต่ำแล้ว อุตสาหกรรมที่เคยอยู่ในประเทศไทย เช่น สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ หรือสิ่งที่เราเคยสนุกสนานเพราะว่าเป็นฐานการผลิตสินค้าอยู่ในประเทศเรา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า แต่วันนี้ พวกนี้กำลังย้ายฐานเข้าไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านเรา

อย่างตอนนี้ที่กัมพูชาเป็นแชมป์ในเรื่องของการ์เม้นท์ เสื้อผ้าส่งออก ค่าแรงถูก แม้แต่คนไทยก็ย้ายไปผลิตที่นั่น ขณะที่ในไทยเราค่าแรงก็ไม่ถูก เทคโนโลยีก็ไม่มี ทรัพยากรก็ใช้ไปเกือบหมด แล้วก็เสื่อมถอยไปล่ะ ที่สำคัญบุคลากรของเราไม่มีการพัฒนา เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องปฎิรูปใหม่ เพื่อยกระดับการแข่งขัน ของประเทศ เพื่อให้เราหลุดบ่วงจากรายได้ปานกลางสู่ระดับสูง

ตัวเลขการลงทุนในต่างประเทศที่ลงทุนในอาเซียนปี 2014 มีข้อมูลการลงทุนใน 10 ประเทศ ประมาณ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศที่ได้รับอานิสงส์การลงทุนโดยตรงมากที่สุดในอาเซียน คือ สิงคโปร์ ที่มีคนแค่ 5 ล้านคน แต่ได้เงินลงทุนมากถึง 53% อีก 9 ประเทศที่เหลือได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่สิงคโปร์ได้ เวียดนามเป็นอันดับ 2 ประเทศไทยอยู่อันดับ 3 ได้ 8% และอินโดนีเซียอันดับ 4 สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าเราไม่ปฏิรูปประเทศเราใหม่ ผลเสียหายก็จะตามมาเรื่อยๆ

ขณะนี้รัฐบาลกำลังปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 มาถึงจุดที่จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งจะมาต่อเติมและสร้างจีดีพีใหม่ให้กับประเทศใน 10 อุตสาหกรรมใหม่ที่จะให้การส่งเสริม จากเดิมที่มีแค่ 5 อุตสาหกรรม สิ่งที่ไทยมีแล้วเก่งแล้ว แต่จะรักษายังไง ในเมื่อเทคโนโลยีโลกกำลังจะเปลี่ยนไป

ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นแชมป์ติด 1 ใน 10 ผู้ส่งออกรถยนต์ รถกระบะ เทรนด์การใช้พลังงานไฟฟ้าจะมากขึ้น ถ้าดูในโซเชี่ยลมีเดียจะเห็นว่าที่เราแข็งแกร่งเพราะเรามีซัพพลายเชน อุตสาหกรรมนี้เข้มแข็งมาก แล้วก็ซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมนี้มีเป็นร้อยๆ บริษัท แต่ปรากฏว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าเหลืออยู่แค่ 10 บริษัท เขาคงไม่อยากลงทุนในไทย คงไปหาเวียดนาม ประเทศที่มีศักยภาพการลงทุนใหญ่ๆ ต้นทุนถูกกว่า

ถ้าเราไม่เตรียมตัว ความเป็นดีทรอยส์ (เมืองอุตสาหกรรมยานยนต์) มันจะหายไปในพริบตา หรือเราเป็นครัวของโลก เป็น 1 ใน 5 แหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก แต่วันนี้ อาหารที่เราทำกลับกลายเป็นว่า ทำเยอะแต่ได้กำไรน้อยวันนี้เราต้องการนวัตกรรม ที่ทำน้อยแต่ได้กำไรมาก หรือว่าวันนี้เทรนด์สุขภาพกำลังมาทำยังไงกับคนไม่กินข้าว คนกรุงเทพฯ ไม่กินข้าวเลย หรือกินแต่ไม่หมด อาจต้องหาข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ที่กินแล้วไม่อ้วน หรือคนที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันกินได้ สิ่งเหล่านี้เราต้องต่อเติม

นโยบายของคุณโดนัลด์ ทรัมป์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทย ถ้าจะคุยเรื่องนี้ให้ละเอียดนับว่ายาวมาก แต่จะหาโอกาสพูดถึงให้ฟังเรื่อยๆ ครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า