สาวทรงเสน่ห์ คุณแพน-พรรณธิการ์ วรรณสิริกุล

p112-119_2

สาวใสทรงเสน่ห์
“คุณแพน พรรณธิการ์ วรรณศิริกุล”
บนเส้นทางความเชื่อมั่นธุรกิจครอบครัว

สาวใสทรงเสน่ห์ “คุณแพน พรรณธิการ์ วรรณศิริกุล” หนึ่งในทายาทสาวคนเก่งของ “บริษัท เมย์ฟลาวเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด” มองหน้าตาแล้วอาจเห็นเป็นสาวญี่ปุ่นหรือไม่ก็เกาหลี จำแลงแปลงกายมาเป็นสมาชิก Young Printer Group เพื่อสร้างบรรยากาศให้อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย มีความชุ่มชื่น คึกคัก สดใสและมีชีวิตชีวา

แต่ความเป็นจริงแล้ว คุณแพน..เธอเป็นสาวใสทรงเสน่ห์และมีความน่าสนใจใคร่รู้บนโลกของความจริงมากกว่าที่จินตนาการ ดังที่ Thaiprint Magazine ภูมิใจนำเสนอให้สังคมอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยได้เป็นที่ประจักษ์ในฉบับนี้

สาวแบงก์กับงานบริหารความเสี่ยง

คุณแพน พรรณธิการ์ วรรณศิริกุล เรียนจบปริญญาตรี ดีกรีเกียรตินิยมอันดับ 1 คณะเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ (EBA) จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ ที่ University of Reading สาขา International Securities, Investment and Banking และได้รับ Distinctive Achievement ระหว่างเรียนเธอได้ทำงานเก็บเงินค่าขนมที่ร้าน Krispy Kreme ไปด้วย พอเรียนจบแล้วกลับมาเริ่มทำงานครั้งแรกที่ธนาคาร UOB สาขา Risk Management หรืองานทางด้านบริหารความเสี่ยงนั่นเอง จากนั้นก็ย้ายไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC และบัตรเครดิตกลุ่มธนาคารกรุงศรี ในแต่ละที่ “คุณแพน” เข้าไปทำงานในสาขาเดิมคือบริหารความเสี่ยงของบริษัท

ต่อมาในปี 2556 จึงตัดสินใจกลับมาช่วยงานธุรกิจครอบครัว โดยเริ่มต้นจากการเป็น Account Executive ที่บริษัท เมย์ฟลาวเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเรียนรู้งานพิมพ์และทำความรู้จักลูกค้า

p112-119_3

“อากง” ปฐมบท “เมย์ฟลาวเวอร์”

กิจการของบริษัท เมย์ฟลาวเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Mayflower (Thailand) เริ่มมาตั้งแต่สมัยอากง (คุณสุรินทร์ วรรณศิริกุล) เมื่อ พ.ศ. 2490 โดยอากงได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ จึงได้ตั้งโรงงานทำสมุดเล็กๆ ภายใต้ชื่อ “อึ้งเซ่งเฮง” ซึ่งมีที่มาจากชื่อและนามสกุลในภาษาจีนของอากง

“เราเริ่มต้นจากการเป็น โรงพิมพ์ห้องแถว รับจ้างทำสมุดนักเรียน จากปรัชญาในการทำงานที่ยึดถือความซื่อตรง และการเน้นคุณภาพของงานของลูกค้าเป็นหลัก ทำให้ชื่อเสียงของโรงพิมพ์ค่อยๆ ขยายออกไปสู่วงกว้าง มากขึ้น และต่อมาเมื่อมาถึงรุ่นคุณพ่อ (คุณสมบูรณ์ วรรณศิริกุล) และ อาแปะทั้ง 2 (คุณสมคิด และ คุณสมควร วรรณศิริกุล) ช่วยกันบริหารกิจการ มิติใหม่ก็เกิดขึ้นมากมาย”

ทั้ง 3 คนเล็งเห็นว่า การเป็นโรงสมุดอย่างเดียวนั้น ทำให้ไม่ได้มีรายได้เข้ามาทั้งปี และเนื่องจากโรงงานทำสมุดนั้นมีรูปแบบใกล้เคียงกับธุรกิจโรงพิมพ์มาก จึงเริ่มพัฒนามารับจ้างพิมพ์แผ่นพับและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทั่วไป นอกจากนี้ ยังรับจ้างประกอบปฏิทินให้กับโรงพิมพ์ต่างๆ เพื่อที่จะสามารถทำให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้เข้ามาตลอดปี

หลังจากเวลาผ่านไป ฐานลูกค้าของบริษัทได้ขยายกว้างขึ้น ทำให้ทรัพยากรและการบริการของบริษัทไม่เพียงพอ ฝ่ายบริหารจึงตัดสินใจสร้างสถานประกอบการใหม่บนถนนสุขสวัสดิ์ เพื่อขยายงานให้ได้ครบวงจรมากที่สุด

โรงงานแห่งใหม่สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2535 ภายใต้ชื่อใหม่ว่า “บริษัท เมย์ฟลาวเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด” แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่ทิ้งความเป็นโรงงานสมุด ขณะเดียวกัน ยังคงพัฒนาสมุดในรูปแบบต่างๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นรับงานพิมพ์ต่างๆ รวมไปถึงปฏิทินแขวน ปฏิทินตั้งโต๊ะ และไดอารี่ในช่วงปีใหม่อีกด้วย

ประสบการณ์ 6 ปีนอกรั้วครอบครัว

ตั้งแต่คุณแพนเรียนจบปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ คุณแพนได้กลับมาเพื่อเริ่มสมัครงานในกลุ่มธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ซึ่งธนาคาร UOB ได้เปิดตำแหน่ง Market Risk Management ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่มากและยังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ จึงตัดสินใจเริ่มทำงานที่นี่

“เวลาใครถามทำงานอะไร ก็บอกไปว่า Market Risk Management ค่ะ ทุกคนก็ถามกลับมาเหมือนกันหมดว่า ทำการตลาดหรือ แต่จริงๆ แล้ว Market Risk Management คือการบริหารความเสี่ยงทางด้านตลาด เช่น การเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และราคาตราสารในตลาดเงินตลาดทุน ที่มีผลกระทบต่อองค์กร”

ช่วงที่ได้ย้ายไปทำงานบริษัท บัตรเครดิต กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC และบัตรเครดิตกลุ่มธนาคารกรุงศรีฯ นอกจากเรื่องการบริหารความเสี่ยงทางด้านตลาดแล้ว ยังได้ฝึกเพิ่มเติมการบริหารความเสี่ยงในอีกแขนงหนึ่ง คือ Liquidity Risk Management หรือบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ใช้เวลาหาประสบการณ์กับการทำงานในองค์กรใหญ่ๆ อยู่ 6 ปี จึงได้ตัดสินใจว่า จะเข้ามาทำงานให้ธุรกิจครอบครัว

p112-119_4

ประเดิมหน้าที่แรก Account Executive

ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะกลับมาดูแลธุรกิจครอบครัว เพราะได้งานที่บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ซึ่งก็คิดหนักเพราะว่าอยากเป็นผู้จัดการก่อนอายุ 30 ปี แต่มีบางอย่างทำให้ตัดสินใจปฏิเสธ แล้วก็ได้เริ่มเข้ามาทำงานให้กับธุรกิจที่บ้าน

ณ จุดนั้นเธอไม่มีความรู้อะไรเรื่องสิ่งพิมพ์ มากนัก ไม่เข้าใจคำศัพย์สำหรับเรียกหลายสิ่งหลายอย่าง อาทิ ตอบไม่ได้ว่าความแตกต่างระหว่างไสกาวกับเย็บกี่ไสกาวคืออะไร แต่ด้วยความที่ว่าเลือกเอง ตัดสินใจเอง ก็ยอมรับที่จะเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่หนึ่ง คุณพ่อไม่เคยบังคับให้กลับมาทำงานที่บ้านเลย แต่พอเห็นคนทำงานหนัก มองดูแล้วว่า ธุรกิจนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราเติบโตมาได้ ก็เกิดเป็นพลัง

“ดังนั้น จึงเลือกที่จะกลับมาช่วย เพื่อรุ่นพ่อและอาแปะจะได้พักบ้าง คุณพ่อบอกว่า อยากจะเข้าใจงานพิมพ์ ต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้าก่อน เริ่มต้นกับตำแหน่ง Account Executive ที่บริษัท เกรย์ แมทเทอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ มีลูกพี่ลูกน้องที่เป็นคนโตสุด เจ้แยม (รัชดา วรรณศิริกุล) นั่งเป็น MD (กรรมการผู้จัดการ) อยู่ จากนั้นเริ่มช่วยเจ้แยมทำงานง่ายๆ ก่อน แล้วค่อยเรียนรู้มาเรื่อยๆ ตอนนี้ ก็สะสมได้เยอะแล้ว ทั้งจากพ่อ อาแปะทั้งสอง เจ้แยม และลูกพี่ลูกน้องคนอื่นๆ ที่ทำงานด้วยกัน ทั้งเจ้ส้ม และเจ้เจเจ (สุพิชญา วรรณศิริกุล และ สินี วรรณศิริกุล)”

มุมมองการทำงาน-คิดนอกกรอบ

สำหรับตัวคุณแพนคิดว่า การทำงานที่อื่นกับการทำงานในธุรกิจของครอบครัวนั้นแตกต่างกันมาก จากที่เคยทำงานในองค์กรใหญ่ๆ ทุกอย่างมีนโยบายกำกับเป็นลายลักษณ์อักษร พอกลับมาทำงานที่บ้านทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด เหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะ เนื้องานที่ทำด้วย ตอนอยู่แบงก์ก็ทำรายงานทุกเดือน คอยดูว่าความเสี่ยงเกินตามนโยบายกำหนดไว้ไหม ถ้าเกินต้องรายงานใคร

แต่ธุรกิจโรงพิมพ์เป็นธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในแต่ละงานที่ทำจะ มีความต่างไม่มากก็น้อย เพราะความต้องการของลูกค้าแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องปรับตัว เริ่มคิดนอกกรอบมากขึ้น ฝึกคิดหาวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะปัญหาที่เจอบางอย่างก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเรา แต่เป็นความต้องการของลูกค้ามากกว่า

การที่กลับมาทำงานที่บ้าน ทำให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น มันไม่ใช่แค่วันๆ หนึ่งเราตอกบัตรเข้างาน ทำงาน ให้เสร็จ หมดวันแล้วก็กลับบ้าน ถึงเวลาอยากไปเที่ยวก็ลาพักร้อนทิ้งทุกอย่างไป แต่ทำธุรกิจของครอบครัว ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ แต่ต้องคิดให้มากกว่าการทำงานไปวันๆ ต้องคิดว่าจะพัฒนาอย่างไรให้ธุรกิจเจริญเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

p112-119_6

ได้รุ่นพ่อเป็นไอดอลหน้าที่การงาน

เนื่องจากบริษัท เมย์ฟลาวเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นธุรกิจกงสี ทำงานกับญาติพี่น้องตัวเอง จึงต้องขีดเส้นวางตัวให้ดี โดยส่วนตัวที่ผ่านมาเห็นเยอะแยะไปที่พี่น้องแท้ๆ ทะเลาะกันเพราะแย่งสมบัติ นี่เป็นแค่ญาติ เป็นแค่ลูกพี่ลูกน้อง ทำไมมันจะไม่มีโอกาสทะเลาะกัน แต่โชคดีที่ครอบครัว “วรรณศิริกุล” โตมาด้วยกัน สนิทกันเหมือนพี่น้องแท้ๆ เคารพซึ่งกันและกัน

“ดังนั้น จึงมองรุ่นพ่อเป็นตัวอย่างในหน้าที่การงาน เจ้แยมถือเป็นเจ้านายเรา เมื่ออยู่ในเวลางานเราต้องเคารพเค้าเป็นเจ้านาย นอกเหนือเวลางานก็กลับเป็น พี่น้องเหมือนเดิม พ่อและอาแปะก็เช่นกัน เค้าคือ เจ้านายเรา เป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าเรา เราต้องรู้จักฟังเค้า เรียนรู้จากเค้า อะไรที่มันคิดว่าเปลี่ยนได้ เราก็ต้องแนะนำ และให้ความคิดในมุมมองอื่นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อบริษัท เพราะถ้าเราเชื่อว่าเราจะทำได้ เราก็จะทำได้ ขอแค่มีความเชื่อมั่นและตั้งใจเท่านั้น”

เรียนรู้ครบถ้วนหนทางสู่ความสำเร็จ

“ด้วยเป็นคนที่คิดว่า ถ้ายังเรียนรู้อะไรไม่ครบถ้วน เราก็เหมือนไม่ได้ประสบผลสำเร็จเท่าไหร่ มันรู้สึกเหมือนว่าเราทำอะไรไม่เสร็จ ยังมีอะไรค้างคาอยู่ จึงคิดเสมอว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำงานที่ไหน เราต้องเรียนรู้งานของเรา เราต้องเข้าใจมันอย่างละเอียดและลึกที่สุด ไม่ว่าปัญหาจะเกิดขึ้นจากมุมไหนก็จะสามารถ แก้ปัญหาได้ เพราะมุมมองของเราไม่ได้จำกัดอยู่ แค่ด้านเดียว”

เป้าหมายการทำธุรกิจโรงพิมพ์ก็เช่นกัน แม้อาจจะเสียเปรียบบ้างที่เป็นผู้หญิง แต่ตั้งใจไว้ว่าโรงงานคือหัวใจของบริษัท ต้องเข้าใจการทำงานและระบบของมันได้อย่างดีที่สุด ถึงแม้ว่าเรื่องเครื่องจักรอาจจะไม่ถนัดสักเท่าไหร่ แต่ควรต้องทำความเข้าใจว่าความสามารถของแต่ละเครื่องคืออะไร เรื่องคนงานก็เช่นกัน ถ้ารู้วิธีการจัดการกับทรัพยากรมนุษย์ ก็จะได้ผลลัพธ์ดีที่สุด ถ้าฟังลูกน้องด้วยความเข้าใจ เราจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้

ดึงความสามารถที่แตกต่างพัฒนาธุรกิจ

สำหรับอนาคตอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย มองว่า ปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์เป็นที่ต้องการน้อยลง เนื่องจากแนวทางของตลาดไปในทางดิจิตอล จดหมายข่าวต่างๆ ที่เคยถูกส่งให้ผู้บริโภคผ่านทางไปรษณีย์เริ่มถูกเปลี่ยนเป็นการส่ง E-mail นิตยสารเริ่มทำในรู้แบบ E-book ความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้าจากการผลิตงานพิมพ์จำนวนมากมาเป็นจำนวนน้อย และ ความต้องการการงานใหม่ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์แบบดิจิตอลมากขึ้น

“แต่อย่างไรก็ตาม มีความเชื่อว่าบริษัท เมย์ ฟลาวเวอร์ฯ จะยังคงพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตามแนวโน้มของตลาด เราทุกคนมีความรู้ต่างกันในด้านต่างๆ สามารถใช้ความชำนาญ เพื่อพัฒนาบริษัทไปตามยุคตามสมัย รุ่นคุณพ่อ ได้พาบริษัทมาถึงจุดๆ หนึ่งและหน้าที่ของพวกเราคือการต่อยอดต่อไป เราคอยติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับงานพิมพ์ อีกทั้งเรายังเล็งเห็นว่าธุรกิจสามารถเติบโตได้ โดยการขยายกิ่งก้านสาขาไปทำสินค้าอื่น รวมถึงการตลาดในแบบใหม่ๆ อีกด้วย

เข้ากลุ่ม Young Printer ได้เพื่อนร่วมวงการ

แนวคิดการมาเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม Young Printer มาจากความเป็นน้องใหม่ของวงการสิ่งพิมพ์ ความรู้ที่ได้เรียนมาจากรุ่นคุณพ่อกับการที่ได้ลงไปทำงานจริงๆ นั้นยังไม่มากพอ จึงได้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม young printer เพื่อเพิ่มเติมความรู้ เพราะสามารถเรียนรู้ได้จากรุ่นพี่คนอื่นๆ รวมทั้งได้ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาเรื่องเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์และการบริหารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีประโยชน์กับตัวเองมาก เพราะมีความรู้บางอย่างที่จะช่วยให้เข้าใจธุรกิจมากขึ้น อีกทั้งการร่วมกลุ่ม Young Printer ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ สามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้

“ที่ผ่านมากิจกรรมต่างๆ ที่ทางกลุ่ม young printer จัดขึ้น ทำให้ได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการมากขึ้น หน้าที่ของตัวเองเป็นกรรมการของกลุ่ม คือเลขาฯ จึงพยายามไปเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง เพราะเชื่อว่าทางกลุ่ม Young printer ได้ให้ตำแหน่งเราแล้ว เราควรที่จะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด รวมไปถึงการช่วยสมาคมในการจัดงานประจำปีต่างๆ อีกด้วย”

p112-119_5

งานอดิเรก/ความภาคภูมิใจที่ได้ทำ

กิจกรรมยามว่างหรืองานอดิเรกที่ “คุณแพน” ชื่นชอบ เธอบอกว่าเป็นคนรักสัตว์ ดูได้จากที่บ้านเลี้ยงหมา 4 ตัว แถมชอบกลับบ้านมานั่งเล่นกับหมา เวลาหยิบของกินทีไร จะจ้องกันตาแป๋วเลย เป็นคนชอบออกกำลังกายด้วย จะออกกำลังกายตอนเช้าก่อนไปทำงาน เพราะคิดว่าตื่นเร็วขึ้นอีกนิดนึงจะได้ใช้เวลาที่ต้องติดอยู่บนถนนไปทำให้สุขภาพดีขึ้นดีกว่า บางวันตอนเย็นหลังเลิกงาน ก็จะไปออกกำลังบ้าง แต่กิจกรรมตอนเย็นจะไม่ไปฟิตเนสธรรมดาแล้ว จะไปเล่นพวก Aerial Acrobat มากกว่า

ขณะเดียวกันพวกปีนผ้าปีนห่วงก็ชอบ เพราะมันสนุกดี มีท่าใหม่ๆ ให้ฝึกตลอดเหมือนเป็นการพิชิตอะไรซักอย่าง พอเราทำได้ก็ยิ่งอยากทำอีก อาจจะเป็นเพราะว่าชอบความท้าทาย ตั้งแต่ตอนเด็กๆ ตั้งใจไว้ว่า ครั้งหนึ่งต้องไปกระโดดร่มให้ได้ เมื่อปีที่แล้วมีโอกาสทำแล้วค่ะ สนุกและตื่นเต้นมาก

ด้วยความเป็นคนชอบหาอะไรท้าทายใหม่ๆ ทำ ดังนั้น เมื่อต้นปี 2558 ตัดสินใจไปปีนเขาที่ Kinabaru ประเทศมาเลเซีย ตอนแรกก็คิดว่าแค่เดินขึ้นเขา ไม่เห็นจะยาก แต่พอได้ไปทำจริงๆ แล้วมันยากกว่า ที่คิด ขึ้นถึงยอดเขาปุ๊บน้ำตาเล็ดเลย

อีกด้านหนึ่งของ “คุณแพน” ที่หลายๆ คนไม่อยากจะเชื่อคือ เป็นครูสอนบัลเล่ต์ค่ะ สอนทุกวันอาทิตย์ตอนเช้า มีตั้งแต่เด็กเล็ก 2-3 ขวบ ไปจนถึงอายุ 12-13ปีเลย คนอื่นอาจมองว่าเป็น คนดุ ขนาดเพื่อนสนิทยังถามเลยว่าลูกศิษย์ไม่กลัว เหรอ แต่พอกลับไปถามเด็กๆ ว่าครูดุไหม ทุกคนบอกว่าไม่ดุหมดเลย แปลกดี ชอบสอน ชอบเล่นกับเด็ก

การเป็นครู เป็นอีกด้านหนึ่งที่ภูมิใจมาก ถึงแม้จะเป็นแค่ครูสอนบัลเล่ต์ แต่ผู้ปกครองไว้ใจเรามาก เวลาถามเด็กๆ ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ได้ยินว่า อยากเป็นครูสอนบัลเล่ต์.. ยิ้มไม่หุบเลย

สุดท้าย “คุณแพน” ฝากบอกเพื่อนๆ ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ว่า “การที่เรามีสมาคมการพิมพ์ไทย มีกลุ่ม young printer คือความสามัคคีของเรา และสิ่งนี้ทำให้เราเปลี่ยนจากคู่แข่งมากเป็นเพื่อนมากกว่า ในเกมเราก็เล่นไปตามกฎกติกา นอกเกมเราก็เป็นเพื่อนเป็นพี่น้องกันทั้งนั้นค่ะ”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า